กฏหมายจำนอง

หมวด ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
(มาตรา ๗๐๒ จำนอง)
มาตรา ๗๐๒ อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โยนส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับจำนองผู้รับจำนองชอบที่จำได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่     จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
(มาตรา ๗๐๓  ทรัพย์ที่จำนองได้)
มาตรา ๗๐๓ อันอสังหาริทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใดๆสังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฏหมายคือ
๑) เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
๒) แพ
๓) สัตว์พาหนะ
๔) สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งกฏหมายบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ
(มาตรา ๗๐๔   สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินที่จำนอง)
มาตรา ๗๐๔ สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนอง
(มาตรา ๗๐๕   เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิจำนองแต่เพียงผู้เดียว)
มาตรา ๗๐๕ การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่
(มาตรา ๗๐๖   จำนองทรัพย์สินภายในเงื่อนไขแห่งกรรมสิทธิ์)
มาตรา ๗๐๖ บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น
(มาตรา ๗๐๗ จำนองหนี้ที่สมบูรณ์)
มาตรา ๗๐๗ บทบัญญัติมาตรา ๖๘๑ ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร
(มาตรา ๗๐๘  สัญญาจำนองต้องระบุจำนวนเงินไทยที่แน่นอน)
มาตรา ๗๐๘ สัญญาจำนองนั้นต้องมีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองนั้นตราไว้เป็นประกัน
(มาตรา ๗๐๙  จำนองทรัพย์เพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่น)
มาตรา ๗๐๙ บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้
(มาตรา ๗๑๐  จำนองทรัพย์สินหลายสิ่ง)
มาตรา ๗๑๐ ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวท่านก็ให้ทำได้ และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดั่งต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า
๑) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองวตามลำดับอันระบุไว้
๒) ให้ถือเอาทรัพย์สินแต่ละสิ่งเป็นประกันหนี้เฉพาะแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุไว้
(มาตรา ๗๑๑   ข้อตกลงการจัดการทรัพย์สินที่จำนองวิธีอื่นนอกจากวิธีบังคับจำนองตามกฏหมาย)
มาตรา ๗๑๑ การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบรูณ์
(มาตรา ๗๑๒  เอาทรัพย์ที่จำนองไปจำนองกับบุคคลอื่นได้)
มาตรา ๗๑๒ แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตามทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่ทำสัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้
(มาตรา ๗๑๓   ชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆ ได้)
มาตรา ๗๑๓ ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง ท่านว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆ ก็ได้
(มาตรา ๗๑๔  สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน)
มาตรา ๗๑๔ อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(มาตรา ๗๑๔/๑  ข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนอง เป็นโมฆะ)
*มาตรา ๗๑๔/๑ บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา ๗๒๘ มาตรา ๗๒๙ และมาตรา ๗๓๕ เป็นโมฆะ
—————————————-
 หมวด ๒
สิทธิจำนองครอบเพียงใด

 

(มาตรา ๗๑๕   ทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันชำระหนี้และค่าอุปกรณ์)
มาตรา ๗๑๕  ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ดอกเบี้ย
(๒) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
(๓) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง
(มาตรา ๗๑๖   จำนองครอบทรัพย์สินที่จำนอง)
มาตรา ๗๑๖  จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน
(มาตรา ๗๑๗  โอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้ปลอดจำนองได้)
มาตรา ๗๑๗  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน ท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่
(มาตรา ๗๑๘  จำนองครอบครองทรัพย์ทั้งปวงที่ติดพันอยู่กับทรัพย์ที่จำนอง)
มาตรา ๗๑๘  จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้
(มาตรา ๗๑๙   จำนองที่ดินไม่ครอบถึงเรือนโรงที่ปลูกสร้างหลังวันจำนอง)
มาตรา ๗๑๙  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง
แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น
(มาตรา ๗๒๐  จำนองโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่น)
มาตรา ๗๒๐  จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น
(มาตรา ๗๒๑  จำนองไม่ครอบถึงดอกผลทรัพย์สินที่จำนอง)
มาตรา ๗๒๑  จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง
————————————————
หมวด ๓
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับจำนองและผู้จำนอง
(มาตรา ๗๒๒   หลังจากจดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนทรัพย์สินอย่างอื่น)
มาตรา ๗๒๒  ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพยสิทธิอย่างอื่น โดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอมหรือทรัพยสิทธิอย่างอื่นนั้น หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนองก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน
(มาตรา ๗๒๓  ทรัพย์สินที่จำนองเสียหายไม่พอแก่การประกัน)
มาตรา ๗๒๓  ถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองบุบสลาย หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายหรือบุบสลาย เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเสียในทันทีก็ได้ เว้นแต่เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จำนอง และผู้จำนองก็เสนอจะจำนองทรัพย์สินอื่นแทนให้มีราคาเพียงพอ หรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ
(มาตรา ๗๒๔   ผู้จำนองประกันหนี้ของบุคคลอื่นเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อมิให้บังคับจำนอง)
มาตรา ๗๒๔  ผู้จำนองใดได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระแล้วและเข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองนั้นชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ตนได้ชำระไป
ถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนองนั้น
(มาตรา ๗๒๕   บุคคลหลายคนต่างจำนวนทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้รายเดียวโดยไม่ได้ระบุลำดับ)
มาตรา ๗๒๕  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้ ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่น ๆ ต่อไปได้ไม่
(มาตรา ๗๒๖  บุคคลหลายคนต่างจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้รายเดียวโดยระบุลำดับไว้)
มาตรา ๗๒๖  เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ผู้จำนองคนหนึ่งนั้น ย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลัง ๆ ได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น
(มาตรา ๗๒๗ บุคคลจำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ให้คนบุคคลอื่นจะหลุดพ้นจากความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ค้ำประกัน)
*มาตรา๗๒๗ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๖๙๑ มาตรา ๖๙๗ มาตรา ๗๐๐ และมาตรา ๗๐๑ มาใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลจํานองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระด้วยโดยอนุโลม
(มาตรา๗๒๗/๑ ผู้จำนองเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นรับผิดไม่เกินราคาทรัพย์สินที่จำนอง ข้อตกลงให้ผู้รับจำนองรับผิดบางอย่างเป็นโมฆะ)
*มาตรา ๗๒๗/๑ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์จํานองหลุด
**ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จํานองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จํานองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจํานองหรือทําเป็นข้อตกลงต่างหาก  ทั้งนี้เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฏหมายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคลและผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก
———————————————————
*มาตรา ๗๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๑๐
*มาตรา ๗๒๗/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๑๑
**มาตรา ๗๒๗/๑ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๗
————————————-
หมวด ๔
การบังคับจำนอง
(มาตรา ๗๒๘  ฟ้องศาลให้บังคับจำนอง)
*มาตรา ๗๒๘  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว
(มาตรา ๗๒๙  ผู้รับจำนองเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้โดยไม่ขายทอดตลาด)
*มาตรา ๗๒๙  ในการบังคับจำนองตามมาตรา ๗๒๘ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้
(๑) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ
(๒) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ
(มาตรา ๗๒๙/๑  การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องศาล)
*มาตรา ๗๒๙/๑  เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้รับจำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด
ในกรณีที่ผู้รับจำนองไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิจำนวนเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๓๓ และในกรณีที่ผู้จำนองเป็นบุคคลซึ่งจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ผู้จำนองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่มาตรา ๗๒๗/๑ กำหนดไว้
(มาตรา ๗๓๐  ทรัพย์ที่จำนองอันเดียว  ผู้รับจำนองหลายคนถือลำดับผู้รับจำนองตามวันเวลาที่จดทะเบียน)
*มาตรา ๗๓๐  เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่านให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง
(มาตรา ๗๓๑  ห้ามผู้รับจำนองคนหลังบังคับตามสิทธิให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อน)
มาตรา ๗๓๑  อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่
(มาตรา ๗๓๒  เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจ่ายให้ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ)
มาตรา ๗๓๒  ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง
(มาตรา ๗๓๓  ทรัพย์จำนองหลุดหรือขายทอดตลาดแล้ว เงินที่ได้น้อยกว่าที่ค้างชำระ เงินขาดเท่าไร ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด)
*มาตรา ๗๓๓  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
(มาตรา ๗๓๔  จำนองทรัพย์หลายสิ่ง ประกันหนี้รายเดียว ไม่ได้ระบุลำดับไว้  ผู้รับจำนองบังคับแก่ทรัพย์สินบางส่วนหรือทั้งหมดได้)
มาตรา ๗๓๔  ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้น ๆ ทั้งหมด หรือแต่เพียงบางสิ่งก็ได้ แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน
ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน ท่านให้แบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้น ๆ เว้นแต่ในกรณีที่ได้ระบุจำนวนเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่ง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด ท่านให้แบ่งกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้น ๆ
แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้ ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อนและจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น
(มาตรา ๗๓๕  ผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง)
*มาตรา ๗๓๕  เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้
——————————————————-
*มาตรา ๗๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗  มาตรา ๑๒
*มาตรา ๗๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗  มาตรา ๑๓
**มาตรา ๗๒๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗  มาตรา ๑๔
*มาตรา ๗๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๘  มาตรา ๕
*มาตรา ๗๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗  มาตรา ๑๕
หมวด ๕
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง
(มาตรา ๗๓๖ ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองมีสิทธิไถ่ถอนจำนอง)
มาตรา ๗๓๖  ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน
(มาตรา ๗๓๗  ระยะเวลาที่ผู้รับโอนจะไ่ถอนจำนอง)
*มาตรา ๗๓๗  ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว
(มาตรา ๗๓๘  หน้าที่ของผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนอง)
มาตรา ๗๓๘  ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
(๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
(๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
(๓) ชื่อเจ้าของเดิม
(๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
(๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
(๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
อนึ่งให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย
(มาตรา ๗๓๙  เจ้าหนี้ไม่ยอมรับคำเสนอของผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนอง)
มาตรา ๗๓๙  ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด
(๒) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้
(๓) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดาได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย
(มาตรา ๗๔๐  ผู้รับโอนหรือเจ้าหนี้ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมขายทอดตลาด)
มาตรา ๗๔๐  ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำจำนวนเงินที่ผู้รับโอนเสนอว่าจะใช้ ท่านให้ผู้รับโอนเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด ถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวน ท่านให้เจ้าหนี้ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดเป็นผู้ออก
(มาตรา ๗๔๑  ผู้รับโอนไถ่ถอนจำนองโดยใช้เงินหรือวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้)
มาตรา ๗๔๑  เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้ว โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงิน หรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้
(มาตรา ๗๔๒ การบังคับจำนอง การถอนจำนอง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่จำนองหลุดมือไปจากบุคคลซึ่งได้ทรัพย์สินนั้น)
มาตรา ๗๔๒  ถ้าการบังคับจำนองก็ดี ถอนจำนองก็ดี เป็นเหตุให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดมือไปจากบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไว้แต่ก่อนไซร้ ท่านว่าการที่ทรัพย์สินหลุดมือไปเช่นนั้นหามีผลย้อนหลังไม่ และบุริมสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้แห่งผู้ที่ทรัพย์หลุดมือไปอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินและได้จดทะเบียนไว้นั้น ก็ย่อมเข้าอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิอันเจ้าหนี้ของผู้จำนอง หรือเจ้าของคนก่อนได้จดทะเบียนไว้
ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสิทธิใด ๆ อันมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แต่ก่อนได้ระงับไปแล้วด้วยเกลื่อนกลืนกันในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาไซร้ สิทธินั้นท่านให้กลับคืนมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้นั้นได้อีก ในเมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองกลับหลุดมือไป
(มาตรา ๗๔๓ ผู้รับโอนทำให้ทรัพย์สินที่จำนองเสื่อมราคาลงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียหาย)
มาตรา ๗๔๓  ถ้าผู้รับโอนได้ทำให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองเสื่อมราคาลงเพราะการกระทำหรือความประมาทเลินเล่อแห่งตน เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้มีสิทธิจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นต้องเสียหายไซร้ ท่านว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น อย่างไรก็ดี อันผู้รับโอนจะเรียกเอาเงินจำนวนใด ๆ ซึ่งตนได้ออกไป หรือเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นนั้น ท่านว่าหาอาจจะเรียกได้ ไม่เว้นแต่ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกราคาขึ้น และจะเรียกได้เพียงเท่าจำนวนราคาที่งอกขึ้นเมื่อขายทอดตลาดเท่านั้น
———————————————————-

 

*มาตรา ๗๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา๑๖
———————————
หมวด ๖
ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนอง
 
(มาตรา ๗๔๔  การจำนองระงับ)
*มาตรา ๗๔๔  อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(๑) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(๒) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(๓) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(๔) เมื่อถอนจำนอง
(๕) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา ๗๒๙/๑(๖) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด
(มาตรา ๗๔๕  ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้ แม้เมื่อหนี้นั้นจะขาดอายุความ)
มาตรา ๗๔๕  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้
(มาตรา ๗๔๖  การชำระหนี้ การระงับหนี้ แก้ไขจำนอง แก้ไขหนี้ที่จำนอง ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน)
มาตรา ๗๔๖  การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใด ๆ สิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้อย่างใด ๆ ก็ดี การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก
————————————————————
*มาตรา ๗๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา๑๗
ที่มา:หนังสือประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

 


Similar Posts