การรับมรดกที่ดินส.ป.ก.

การรับมรดกที่ดินส.ป.ก.

การรับมรดกที่ดินส.ป.ก.

ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน เขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน ที่ดินที่เป็นไร่สวนทำกินของราษฎรตั้งแต่บรรพบุรุษ และที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร  หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 คือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย
เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ  แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม (ไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่น) ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ เว้นแต่เป็นโครงการของรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำกิน
การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ
การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การนำที่ดินของรัฐซึ่งถูกราษฎรบุกรุกถือครองโดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หรือที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำกินเป็นการถาวรและถูกต้องตามกฎหมาย หรือ การปฏิรูปที่ดินในที่ดินของรัฐ หมายถึง การที่ ส.ป.ก. นำที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมโทรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงการคลังให้ความยินยอมแล้ว ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวร นำมาจัดให้เกษตรกรเช่า เช่าชื้อ เข้าทำประโยชน์ หรือจัดให้โดยมีค่าชดเชย
กฎระเบียบการครอบครองที่ดิน สปก. 4-01
ผู้ครอบครองจะต้องเป็นเกษตรกร หรือมีประสบการณ์การเกษตร
พื้นที่ดินจะต้องใช้เพื่อการเกษตรจะใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดไม่ได้
ห้ามมิให้ขาย หรือเปลี่ยนมือไปให้ผู้อื่น แต่เป็นมรดกตกทอดถึงทายาทได้
ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องคืนให้กับรัฐ
ที่ดินในเขตอุทยาน หรือในเขตป่าสงวน หรือที่ลาด หรือที่เนิน 35 ดีกรีหรือมากกว่า ไม่สามารถครอบครองได้
บุคคลมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ ครอบครัวมีสิทธิ์ครอบครองไม่เกิน 50 ไร่
ที่ดิน ส.ป.ก. คือที่ดินที่รัฐให้ประชาชนครอบครอง เพื่อปฏิรูปที่ดินเป็นพื้นที่ทำกิน บุคคลมีสิทธิครอบครองที่ดินไม่เกิน 25ไร่ และครอบครัวละไม่เกิน 50ไร่
ส.ป.ก.จะออกหนังสือรับรองและโฉนดที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
ส.ก.1 เป็นหนังสือจับจอง หรือหนังสือครอบครองที่ดินเพื่อจะใช้ในการทำกินหรือการเกษตร ไม่ใช่หนังสือรับรองว่าเป็นเจ้าของที่ดิน
น.ส.2 เป็นหนังสือรับรองว่าเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติให้เป็นที่ดินทำกิน หรือการเกษตร ผู้ครอบครองจะต้องปฏิรูปที่ดิน ให้เป็นประโยชน์ 75%ของที่ดินอย่างน้อย 3ปีจึงจะยื่นหนังสือขอสิทธิ เป็นเจ้าของที่ดินได้ กรมที่ดินจึงจะออกเอกสารสิทธิ์เรียก น.ส. 3หรือ น.ส.3ก แล้วแต่กรณี
น.ส. 3 หรือ น.ส. 3ก เป็นหนังสือรับรองว่าที่ดินผืนนี้ได้มีการปฏิรูปเป็นเวลาย่างน้อย 3ปี ได้ทำการรังวัดที่ดินและลงทะเบียนเป็นหลักฐาน
น.ส. 3ก เป็นหนังสือรับรองเหมือนหนังสือ น.ส. 3 เพียงแต่ น.ส. 3ก เพิ่มรูปถ่ายของที่ดินทางอากาศ
น.ส. 3 และ น.ส. 3ก ไม่ใช่โฉนดที่ดิน เพียงแต่เป็นหนังสือสิทธิเจ้าของที่ดินที่ได้รับรองว่าได้ทำประโยชน์ ในที่ดินดังกล่าว และได้ทำรังวัดและจดทะเบียนเป็นหลักฐาน มีรูปถ่ายทางอากาศ
น.ส. 3 และ น.ส. 3ก เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร จะใช้เป็นประโยชน์อื่นใดมิได้
ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่รัฐยกให้เป็นที่ดินทำกิน ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่เป็นมรดกตกทอดได้ การซื้อขายที่ดินเป็นสิ่งผิดกฏหมาย
ที่ดินในเขตอุทยาน ที่ดินในเขตป่าไม้ ที่ดินในเขตภูเขาและรอบภูเขาที่เป็นที่ลาดชัน 35 ดีกรีหรือมากกว่า ไม่สามารถครอบครองได้
ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินทำกิน ซื้อขายไม่ได้โฉนด น.ส. 3 สามารถซื้อขายได้ แต่ไม่สามารถใช้ทำประโยชน์อื่นใดได้ นอกจากเกษตรกรรม
การรับมรดกที่ดินสปก.ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้บัญญัติเรื่องการรับมรดกที่ดินไว้ในมาตรา 39 “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
การรับมรดกที่ดิน ส.ป.ก. นอกจากจะเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องเป็นไปตาม “ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535″ อีกด้วย ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1. ผู้รับโอนและผู้รับมรดกตามระเบียบฉบับดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
    (1) ผู้นั้นรวมทั้งบุคคลในครอบครัวเดียวกันไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพียงพอแก่การครองชีพอยู่ก่อนแล้ว
    (2) เป็นผู้มีคุณสมบัติและอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดไว้
2. เมื่อเกษตรกรรมถึงแก่กรรมให้สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรก
“คู่สมรส” หมายความรวมถึง ชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ในขณะยื่นคำขอโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย
3. ในกรณีที่ไม่มีคู่สมรส หรือคู่สมรสไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อหรือไม่มีคุณสมบัติจะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ ให้สิทธินั้นตกทอดแก่บุตร
4. หากมีบุตรหลายคนให้แยกพิจารณา ดังนี้
    (1) ถ้าตกลงกันได้ว่าจะให้บุตรคนใดเพียงคนเดียวเป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ ก็ให้เป็นไปตามข้อตกลง
    (2) ถ้าตกลงกันไม่ได้และที่ดินสามารถแบ่งแยกได้โดยเพียงพอแก่การครองชีพ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าเนื้อที่ถือครองขั้นต่ำที่ คปจ.(คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด) กำหนดไว้ ก็ให้จัดแก่บุตรเหล่านั้นตามส่ว
    (3) ถ้าตกลงกันไม่ได้และที่ดินไม่สามารถแบ่งแยกให้เพียงพอแก่การครองชีพตาม (2) ได้ครบจำนวนบุตร ให้ คปจ. พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากบุตรเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตามจำนวนแปลงที่ดินที่อาจแบ่งแยกได้
5.ในกรณีที่บุตรคนใดตายก่อนผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อ ให้ผู้สืบสันดานโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรคนนั้นที่ประกอบเกษตรกรรมร่วมกับเกษตรกรนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนมีสิทธิตาม 4(2) และ 4 (3) แทนที่ในฐานะบุตร
6. ในกรณีที่ไม่มีคู่สมรสหรือบุตร หรือบุคคลดังกล่าวไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือไม่มีคุณสมบัติจะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ ให้สิทธินั้นตกทอดแก่เครือญาติได้ ถ้ามีเครือญาติดังกล่าวหลายคน ให้นำความในข้อ 4.และ 5. มาใช้บังคับโดยอนุโลม
7. “เครือญาติ” หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้
    (1) บิดาหรือมารดาของเกษตรกร
    (2) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของเกษตรกร
    (3) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาของเกษตรกร ทั้งนี้ บุคคลตาม (2) หรือ (3) ต้องเป็นผู้ที่ประกอบเกษตรกรรมร่วมกับเกษตรกรในที่ดินแปลงนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน
    (4) หลานของเกษตรกร
8.เกษตรกรจะกำหนดลำดับทายาทผู้ที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินหากตนเองถึงแก่กรรมไว้ โดยมิให้เป็นไปตามข้อ 2.,3.,6.ก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือตามแบบที่ ส.ป.ก.กำหนด ยื่นต่อ ส.ป.ก.จังหวัดไว้เป็นหลักฐาน
9.เกษตรกรจะกำหนดทายาทผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ หากที่ดินสามารถแบ่งแยกแล้วเพียวพอแก่การครองชีพตามขนาดเนื้อที่ถือครองขั้นต่ำที่ คปจ. กำหนด และให้นำความในข้อ 3. 4.และ 5. มาใช้บังคับโดยอนุโลม
10. ถ้าเกษตรกรมีคู่สมรส การแสดงความประสงค์ตามข้อ 8. ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
11. ทายาทที่เกษตรกรกำหนดให้เป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดิน จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1.อยู่ในขณะที่เกษตรกรถึงแก่กรรมด้วย และหากทายาทตามที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวข้างต้นไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1. ให้นำความในข้อ 2., 3., 4., 5.และ 6 มาใช้บังคับเสมือนหนึ่งเกษตรกรไม่ได้แสคงวามประสงค์ดังกล่าว
12. ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3., 6., และข้อ 8. ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะรับโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อได้เฉพาะเมื่อผู้นั้นเป็นผู้ที่สามารถประกอบเกษตรกรรมในที่ดินนั้นได้ด้วยตนเองและจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
สิทธิการเช่าซื้อที่ยังมีเงื่อนไขหรือมีค่าภาระติดพันอยู่ จะโอนให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ได้ เว้นแต่ผู้โอนจะได้ทำให้เงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันนั้นหมดไปเสียก่อน หรือผู้รับโอนได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง และจะต้องได้รับอนุมัติจากศาลแล้
13. เมื่อทราบว่าเกษตรกรถึงแก่กรรม ให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียแจ้งให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่จะมีสิทธิได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบโดยเร็ว เพื่อนำเสนอ คปจ. ต่อไป
      ให้ คปจ. เป็นผู้พิจารณาว่าบุคคลใดเป็นผู้จะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ เมื่อ คปจ. มีมติเป็นประการใด ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามสิทธิตามผลการพิจารณาของ คปจ.มารับทราบพร้อมทั้งจัดทำสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อให้กับผู้รับมรดกตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนดโดยเร็วต่อไป
      ถ้ามีเหตุอันควร คปจ. อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้ผู้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อมีหน้าที่ให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ทายาทผู้ที่ตกลงไม่ขอรับสิทธิ หรือเป็นทายาทที่เป็นผู้เยาว์หรือผู้ทุพพลภาพหรือโรคจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบก็ได้ตามความเหมาะสมแก่กรณี
14. ผู้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเกษตรกรผู้ถึงแก่กรรม
15. หากปรากฏว่าผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คปจ. กำหนดตามข้อ 13.วรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนให้ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อปฏิบัติตามข้อกำหนดให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ คปจ. กำหนดมาตรการที่สมควร ทั้งนี้ อาจพิจารณาถึงขั้นให้ผู้นั้นสิ้นสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อได้
  เมื่อ คปจ. ได้สั่งให้ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อสิ้นสิทธิในที่ดินและมีคำสั่งให้ผู้นั้นออกจากที่ดินภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ คปจ. พิจารณาบุคคลอื่นผู้มีสิทธิที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อเพียงรายเดียวเป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อแทนต่อไป ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิทายาทที่เคยไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อแต่เดิมด้วย
16. ถ้าเกษตรกรผู้ถึงแก่กรรมมีหนี้สินค้างชำระกับ ส.ป.ก.หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก.หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อจะต้องรับไปซึ่งหนี้สินที่ค้างชำระเหล่านั้นด้วย
  หากบุคคลตามวรรคหนึ่งไม่ยอมรับหนี้สินที่ค้างชำระดังกล่าว หรือไม่ยินยอมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ ให้ผู้นั้นหมดสิทธิได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาบุคคลผู้จะได้รับมรดกสิทธิรายอื่นที่ยินยอมชำระหนี้และยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ เสนอ คปจ. พิจารณาต่อไป โดยให้นำข้อ 15. วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
17. ถ้าไม่มีทายาทตามระเบียบมารับสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือมีแต่ไม่ขอรับ หรือไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1. ให้ คปจ. ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายอื่นตามระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป
   กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการเช่าซื้อที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่หักเงินเท่ากับจำนวนค่าเช่าที่ดินดังกล่าวที่ ส.ป.ก. กำหนดและหนี้สินที่ค้างชำระกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่แจ้งหนี้ให้ ส.ป.ก. ทราบออกจากเงินที่เกษตรกรผู้ถึงแก่กรรมได้ชำระเป็นค่าเช่าซื้อ และคืนเงินที่เหลือให้แก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของผู้เช่าซื้อ โดยส่งมอบแก่ผู้จัดการมรดก หรือในกรณีไม่มีผู้จัดการมรดก ก็ให้ส่งมอบแก่ทายาทคนหนึ่งคนใดซึ่งมีสิทธิจะได้รับมรดกเพื่อแบ่งปันให้กับทายาทรายอื่นต่อไป
18. ถ้าผู้ที่ตกลงรับมรดกสิทธิการเช่าซื้อ ขอเลิกสัญญาเช่าซื้อในภายหลัง ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนค่าเช่าซื้อที่เกษตรกรผู้ตายและผู้นั้นได้ชำระไว้ ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนตกลงรับมรดกสิทธิการเช่าซื้อ โดยนำวิธีการหักเงินตามความในข้อ 17. วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  ถ้าผู้ที่ขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อมีภาระผูกพันในเรื่องสิทธิประโยชน์ตามข้อ 13. วรรคสาม ผู้นั้นจะได้รับเงินคืนตามวรรคหนึ่งต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันนั้นครบถ้วนแล้ว
  ถ้ามีการขอเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อมิได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันในเรื่องสิทธิประโยชน์ ให้ คปจ. พิจารณาผู้มีสิทธิที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าซื้อตามระเบียบคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวเป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าซื้อแทนต่อไป โดยจะต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดรวมทั้งภาระผูกพันในสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่เดิมนั้นด้วย และให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
19. ในกรณีโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หากมีค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแปลง ให้ผู้โอนเป็นผู้ชำระ ส่วนในกรณีตกทอดทางมรดกสิทธินั้นให้บรรดาทายาทผู้ได้รับมรดกสิทธิเป็นผู้ชำระ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ส.ป.ก. กำหนด
20. ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดรายงานการโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อหรือการตกทอดมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อให้ ส.ป.ก. ทราบ เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อไป
ที่มา:http://vtlandlawoffice.com

 

Similar Posts