คำแนะนำในการทำนิติกรรมสัญญา
๑. ต้องพิจารณาความสามารถของคู่สัญญาเสียก่อนว่า กฎหมายให้สิทธิกระทำได้หรือไม่ เช่น
๑.๑. เป็นผู้เยาว์หรือไม่ คือ อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่หากสมรสกัน (จดทะเบียนสมรส) เมื่ออายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ก็ไม่เป็นผู้เยาว์ต่อไป
๑.๒. มีคู่สมรสหรือไม่ หรือหากมีแล้วในบางกรณีอาจจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
๑.๓. เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ เช่น ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ คือ คนประเภท บ้าวิกลจริต เป็นต้น
๒. ต้องพิจารณาว่า เป็นผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจทำสัญญาได้หรือไม่ เช่น
๒.๑. เป็นเจ้าของบ้านที่ดินจริงหรือไม่ เช่น ต้องดูจากโฉนดมีชื่อใครดูจากบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น
๒.๒. หากเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีหลักฐานการรับมอบอำนาจหรือไม่
๒.๓. เป็นผู้แทนนิติบุคคล เช่น ของห้างหุ้นส่วนบริษัทสมาคมจริงหรือไม่ และมีหนังสือกำหนดว่า ในการจะทำอะไรต้องมีกรรมการกี่คนลงชื่อต้องประทับตราหรือไม่วิธีง่ายๆก็ต้องขอดูหลักฐานจากทางราชการให้แน่นอนเสียก่อน
๒.๔. หากเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องดูว่ามีสิทธิได้แค่ไหนเพียงใด ปัญหาที่มีบ่อย ๆ คือ เรื่องการซื้อขายที่ดิน
๓. เกี่ยวกับทรัพย์ที่จะทำสัญญา ก็มีความสำคัญเช่นกัน ต้องตรวจดูให้ดี เช่น ที่ดินก็ต้องไปดูให้แน่ ๆ ว่าอยู่ที่ไหน โดยสอบถามจากพนักงานที่ดินหากจะให้ดีที่สุดก็ขอให้มีการรังวัดตรวจสอบก่อน หรือตรวจสอบว่าที่ดินติดจำนอง ขายฝาก ติดภาระจำยอม หรืออยู่ใกล้โรงงานใกล้แหล่งเสื่อมโทรม หรือไม่ ซึ่งล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น
๔. ต้องพิจารณาตัวบุคคลด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจทำสัญญาได้เช่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เป็นกรรมการบริษัทที่มีอำนาจหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจว่าจะเชื่อถือได้แค่ไหนเพียงไร
๕.การเข้าทำสัญญาท่านต้องอ่านข้อความในสัญญาให้ดีว่าเอารัดเอาเปรียบกันหรือไม่มีข้อที่จะทำให้เสียหาย หรือไม่ ไม่แน่ใจควรปรึกษา ผู้รู้กฎหมายเสียก่อนเช่น ปรึกษาทนายความ นิติกรและ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อื่น ๆ เป็นต้น เมื่อแน่ใจแล้วจึงทำสัญญา
๖.การลงมือทำสัญญาเช่นกรอกข้อความควรให้ชัดเจนที่ไหนไม่ต้องการก็ขีดออกไปโดยคู่สัญญาลงชื่อกำกับไว้ตรวจดูให้เรียบร้อยว่าถูกต้องตรงกับความประสงค์หรือไม่ เมื่อถูกต้องตรงกับความประสงค์แล้ว จึงลงลายมือชื่อในช่องคู่สัญญา
๗. การลงชื่อในสัญญาสำคัญเช่นกัน ต้องดูว่าลงในฐานะอะไร เช่น เป็นผู้แทนลงชื่อในช่องผู้ซื้อกลับกัน ผู้ซื้อลงชื่อในช่องผู้ขายหรือเป็นพยานแต่ลงชื่อในช่องผู้ซื้อเป็นต้นกรณีพิมพ์นิ้วมือก็ต้องมีพยานรับรองอย่างน้อย ๒ คน ควรให้ลงชื่อรับรองทันทีและระบุให้ชัดว่าเป็นพยานรับรองในเรื่องนี้จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง อนึ่ง ลงชื่อในสัญญาเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกันต้องตรวจดูให้ดีและควรลงทั้งสองฝ่ายไม่ว่ากฎหมายจะบังคับหรือไม่ก็ตามและควรมีพยานด้วยซึ่งมาจากทั้งสองฝ่าย
๘. แบบสัญญานี้ อาจต้องทำเองหรือซื้อจากที่เขาทำจำหน่าย หากจะให้ดีก็ควรจะปรึกษานักกฎหมายอาชีพเช่น ทนายความ หรือ ที่ปรึกษากฎหมายขอให้เขาทำให้จะเสียค่าใช้จ่ายบ้างก็ยังดีกว่าที่จะทำไปไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเสียหายมากมาย รายละเอียดของสัญญาควรมี
๘.๑. สถานที่ วัน เดือน ปี ที่ทำสัญญา
๘.๒. ชื่อ นามสกุล อายุ ตำบลที่อยู่ อาชีพของคู่สัญญา ตลอดจนหลักฐานแสดงตัวบุคคลควรระบุไว้ด้วย
๘.๓. ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องอะไร มีรายละเอียดอย่างไร เช่นเกี่ยวกับทรัพย์ตกลงกันอย่างไร เช่นการชำระเงิน การไปโอนเมื่อไร ข้อความในสัญญาอาจแยกเป็นข้อย่อย ๆ เพื่อความเข้าใจง่ายหรือให้รายละเอียดก็ได้
๘.๔. กำหนดความรับผิด เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
๘.๕. การลงลายมือชื่อคู่สัญญา ลงลายมือชื่อพยาน
๙. ข้อแนะนำอื่น ๆ กระดาษอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น ปากกา ควรใช้กระดาษอย่างดีเพราะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานปากกาเขียนควรใช้ด้ามเดียวตลอดในการเขียนสัญญา ผู้เขียนสัญญาเช่นกัน ใครเป็นผู้เขียนก็เขียนตลอดและควรระบุว่าเป็นผู้เขียนสัญญาด้วย และควรเขียนให้พอดีกับกระดาษ เช่น ไม่เขียนต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป ทำให้เหลือที่ว่างมาก อาจเกิดความสงสัยกันขึ้นมาว่าเป็นเอกสารปลอม เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดก่อนลงลายมือชื่อต้องอ่านดูข้อความให้ดีเสียก่อนว่าเป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ เมื่อถูกต้องตามความต้องการแล้วจึงลงชื่อ