ค่าปากถุงคือ

kapaktung

ค่าปากถุงคือ  ค่าปากถุง  เงินปากถุง หรือเรียกด้วยภาษาราชการว่า ค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ค่าจัดการเงินกู้ ค่านายหน้า เงินกินเปล่า ถ้าในภาษาต่างประเทศหรือภาษาทางราชการหรือภาษาของสถาบันการเงิน อาจใช้คำว่า “ค่าธรรมเนียมการให้กู้ยืม (Front End Fee)” ส่วนในภาษาชาวบ้านอาจเรียกกึ่งประชดว่า เงินกินเปล่าของเจ้าหนี้ หรือนายทุน หรือ เงินที่แบ่งให้ค่านายหน้านั่นเอง  เงินปากถุงนั้นจะเรียกใช้กันในวงการเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ ผู้เป็นลูกหนี้ทั้งกับเจ้าหนี้ธรรมดาหรือสถาบันการเงินจักเข้าใจแจ่มชัดเพราะเงินปากถุงจะใช้บังคับทุกครั้งที่เกิดการกู้ยืมเงิน โดยหักจากเงินกู้ไปตั้งแต่ครั้งแรก นั่นหมายความว่า ลูกหนี้จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนเพราะต้องถูกหักเงินปากถุงหรือค่าธรรมเนียมการกู้ไว้ก่อนแล้ว
อัตราการคิดเงินปากถุงนั้นไม่มีกำหนดตายตัว เจ้าหนี้บุคคลธรรมดาอาจคิดร้อยละ 5-10จากจำนวนเงินกู้ ส่วนสถาบันการเงินก็มีอัตราตามที่เขากำหนดเองเนื่องจากธนาคารชาติไม่มีมาตรการกำหนดเงินจำนวนนี้จึงเป็นความเห็นอิสระของแต่ละสถาบันการเงินโดยมักขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อและความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ หากพิจารณาให้ลึกซึ้งจักสังเกตผลประโยชน์ที่เจ้าหนี้ได้รับจากการปล่อยกู้ คือ ดอกเบี้ยจากจำนวนเงินกู้เต็ม เงินปากถุงซึ่งหักจากยอดเงินกู้ทันทีในครั้งแรกที่รับเงินกู้ การชำระเงินต้นเมื่อครบกำหนดในสัญญากู้ ขณะที่ลูกหนี้จะได้รับเงินสุทธิหลังจากหักเงินปากถุงหรือค่าธรรมเนียมเงินกู้แล้ว แต่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้เต็ม มิใช่เงินสุทธิหลังหักเงินปากถุงหรือเงินที่ได้รับแท้จริง ลูกหนี้จึงต้องรับภาระหนี้ที่ตนไม่ได้ก่อไปด้วยเพราะไม่ได้รับเงินส่วนนั้น แต่ต้องใช้หนี้ต้นเงินจำนวนเต็มรวมกับดอกเบี้ยเพื่อจ่ายคืนเจ้าหนี้
การคิดเงินปากถุงหรือค่าธรรมเนียมการกู้เงิน นั้นมิได้ใช้เฉพาะการกู้เงินระดับชาวบ้านหรือกิจการทั่วไปเท่านั้น แต่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศในนามของประเทศก็มีการคิดเงินเหล่านี้รวมไปด้วยและใช้วิธีปฏิบัติเดียวกัน โดยอาจเรียกชื่อแตกต่างในภาษาต่างชาติว่า เงินฟรอนท์ ก็ได้ เมื่อมีข้อตกลงเงื่อนไขการกู้เงินระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว ในวันรับเงินกู้นั้นเจ้าหนี้จะหักเงินปากถุงไว้ตามระเบียบที่เจ้าหนี้กำหนด ลูกหนี้จึงรับเงินส่วนที่เหลือจากการหักนั้นไปใช้สอยได้ แต่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้เต็มตามสัญญาแม้จะรับเงินไม่เต็มจำนวนก็ตาม ความแตกต่างระหว่างเงินปากถุงของเจ้าหนี้ทั่วไปกับสถาบันการเงินในต่างประเทศนั้น คือ กรณีเจ้าหนี้ทั่วไปซึ่งมีลูกหนี้ระดับชาวบ้านนั้น เงินปากถุงจะเป็นผลประโยชน์เฉพาะเจ้าหนี้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้ระดับประเทศนั้นเงินปากถุงจักนำไปแบ่งจ่ายให้แก่ผู้แทนประเทศที่ลงนามในสัญญากู้ด้วย มิได้เป็นผลประโยชน์เฉพาะของเจ้าหนี้เท่านั้น เนื่องจากการกู้เงินระดับประเทศโดยลูกหนี้คือประเทศนั้นและมีรัฐบาลเป็นตัวแทน  แผ่นดินเป็นสิ่งของค้ำประกันทำให้ถือเป็นลูกหนี้น่าไว้วางใจสูง รัฐบาลนั้นมีสิทธิเลือกเจ้าหนี้ได้ เงินปากถุงจึงเป็นค่าน้ำใจที่เจ้าหนี้ตอบแทนตัวแทนลูกหนี้ซึ่งคือ รัฐบาลลูกหนี้ ส่วนอัตราเงินปากถุงนั้นแล้วแต่เจ้าหนี้กับรัฐบาลลูกหนี้จะตกลงกัน โดยเงินส่วนนี้มิถือเป็นรายได้ของประเทศ แต่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล การกู้เงินแต่ละครั้งของรัฐบาลในนามตัวแทนของประเทศมีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ จึงเป็นที่รู้กันดีในสังคมไทยว่า นักการเมืองย่อมได้รับผลตอบแทนจำนวนสูงมากทุกครั้งที่มีการเซ็นสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินต่างประเทศเมื่อเทียบกับการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศซึ่งคิดเป็นเงินบาทแล้วมูลค่าน้อยกว่าดอลลาร์อย่างแน่นอน อีกทั้งยังเป็นผลประโยชน์ที่แบ่งปันกันเป็นส่วนตัวและสอบสวนค่อนข้างยากเพราะเป็นการหักในนามค่าธรรมเนียมเงินกู้โดยเจ้าหนี้ แต่จ่ายกันเป็นการส่วนตัวตามข้อตกลงของแต่ละคน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการกู้เงินระหว่างประเทศนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสัญญากู้เงินจะมีความเปลี่ยนแปลงในฐานะการเงินอย่างผิดตาเสมอ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กู้เงินและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ได้รับประโยชน์นอกสัญญากู้ กับความร่วมมือของเจ้าหนี้ จึงปกปิดความผิดได้ง่ายและพ้นสายตาของประชาชนได้
เมื่อมองไปยังรัฐบาลล่าสุดจักสังเกตเห็นอาการกระตือรือร้นพิเศษตั้งแต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งผู้นำบ้านเมืองอย่างเป็นทางการตามรัฐธรรมนูญ ข่าวหน้าหนึ่งคือ หัวหน้ารัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการกับทีมงานเรียกประชุมสถาบันการเงินต่างประเทศเข้าไปพูดคุยเจรจาการกู้เงินทันที จากนั้นหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการแล้วรัฐบาลก็ประกาศนโยบายแจกเงินฟรีแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แจกเงินคนชราในโครงการพิเศษ โดยอ้างว่าการแจกเงินนี้มาจากเงินกู้ของสถาบันต่างประเทศเนื่องจากประเทศไม่มีเงินมากพอและต้องการช่วยเหลือสังคมไทยให้ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับวงเงินกู้ที่ตั้งไว้ล้วนมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ใช้แจกคนบางกลุ่มที่มิได้เดือดร้อนเงิน ขณะที่คนยากจน คนตกงาน คนด้อยโอกาส ส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับแจกเงินช่วยเหลือจากรัฐสักบาทเดียว เราจึงมองเห็นเหตุผลสำคัญในการเร่งรัดกู้เงินด้วยสารพัดวิธีของรัฐบาลนี้ แม้แต่การคิดออกกฎหมายใหม่เพื่อยกเว้นข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการกู้เงินได้สบายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภาก็พยายามเร่งรัดอยู่ในเวลานี้
เราจักสังเกตได้ว่า งานกู้เงินจากสถาบันต่างชาติเป็นงานหลักและเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เป็นข่าวว่า ได้เป็นรัฐบาล เมื่อเริ่มต้นทำงานก็ไม่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจในการทำมาค้าขายเพื่อส่งสินค้าไทยออกไป แต่เร่งกู้หนี้ยืมสิน เพิ่มภาษีน้ำมันซึ่งทำให้สินค้าต่างๆเพิ่มราคาโดยอ้างว่าต้นทุนสูง ทำให้คนไทยเดือดร้อนหนัก แล้วโยนไปว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ราคาสินค้าสูงทั้งที่เกิดจากการเพิ่มภาษีของรัฐในเวลาเดียวกับที่ราคาน้ำมันต่ำ มันเป็นนโยบายสวนทางกับคำพูดหวานของรัฐบาลที่ตั้งใจสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างชัดเจน เพราะการเพิ่มภาษีทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นทันตา แล้วรัฐบาลก็แจกเงินฟรีแก่คนไทยบางกลุ่ม มันเป็นนโยบายสวนทางกันของรัฐบาลที่กำลังสร้างความเดือดร้อนหนักแก่ประชาชน แม้จะได้รับเงินแจกฟรี แต่มูลค่าสินค้าที่สูงขึ้นทำให้เงินแจกด้อยค่าลงทันตา มันจึงมิได้ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ยากของคนไทยอย่างแท้จริง แต่เป็นของหวานฉาบหน้าชั่วคราว เนื้อในเน่าเฟะจนแตะต้องไม่ได้เลย
ณ วันนี้รัฐบาลตั้งใจกอบโกยเงินปากถุงจากสัญญากู้เงินต่างๆโดยใช้นโยบายแจกเงินชาวบ้านเป็นข้ออ้างในการกู้เงิน การเพิ่มเงินภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตต่างๆ เงินค่าทางด่วน ซึ่งเพิ่มภาระหนักแก่คนไทยอย่างจงใจทั้งที่รู้ว่าเป็นต้นทุนราคาสินค้า ไม่ยอมเปิดตลาดการค้าขายสินค้าของไทยเพื่อนำเงินภาษีมาช่วยคนไทยซึ่งต้องอาศัยความสามารถของรัฐบาลเท่านั้น มันจึงเป็นความมักง่ายของรัฐบาลที่ยัดเยียดให้คนไทย ประวัติศาสตร์ของประเทศจีนที่ฮ่องเต้และบริวารขูดรีดภาษีจากชาวบ้านที่กำลังอยู่ในสภาพทุกข์เข็ญและต่อสู้เพียงลำพังเพื่อนำเงินไปบำเรอความสุขส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านและผู้บริหารไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง คือ ต้นเหตุแห่งการปลดปล่อยความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ต้องการถูกบีบคั้นและกำจัดความอยุติธรรมที่กระทำต่อชาวบ้านด้วยพละกำลังของตนเอง มันส่งผลสะเทือนต่ออำนาจของฮ่องเต้และบริวารอย่างหนักหน่วงด้วยปริมาณคนทุกข์ยากทั้งประเทศกับกลุ่มผู้บริหารหยิบมือเดียวที่ประชาชนเคยยอมอดทนให้กดขี่จนพวกเขาเคยชินในการบีบคั้นรีดนาทาเร้นจากชาวบ้านเพื่อหาเงินสร้างความสุขส่วนตัว บัดนี้ ประวัติศาสตร์โบราณที่ต้องรีดเงินภาษีมาจุนเจือให้ผู้บริหารบ้านเมืองมีเงินจับจ่ายใช้สอยสบายมืออย่างมักง่ายกำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยด้วยการปรับรูปแบบบางอย่าง เช่น เพิ่มเงินภาษีด้วยการขูดรีดแบบดั้งเดิม การกู้หนี้ยืมเงินโดยใช้ผืนแผ่นดินของบรรพชนค้ำประกันหนี้กับเจ้าหนี้ต่างชาติ การออกกฎหมายเพิ่มโทษหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูงเพื่อปิดปากประชาชนและสามารถใช้สัญลักษณ์นี้ทำมาหารายได้หรือใช้บีบคั้นชาวบ้านได้ต่อเนื่อง
เงินปากถุงหรือค่าธรรมเนียมการกู้เงิน เป็นสุดยอดประโยชน์จำนวนมหาศาลที่เปลี่ยนชีวิตนักการเมืองมาหลายยุคสมัยซึ่งเป็นการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้กับนักการเมืองผู้เป็นตัวแทนลูกหนี้ซึ่งคือ แผ่นดินไทย โดยราษฎรเป็นผู้ชดใช้หนี้สินทั้งหมด ถ้าสมมุติตัวเลขเงินปากถุงจากต้นเงินกู้ 70,000 ล้านบาท ซึ่งต้องเสียเงินปากถุงให้เจ้าหนี้ 3 เปอร์เซนต์ ย่อมมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ต้องแบ่งจ่ายแก่นักการเมืองที่เซ็นสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลน่าจะได้หลายร้อยล้านบาทเป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ได้รับจะคิดจากต้นเงินกู้จำนวนเต็มคือ 70,000 ล้านบาท ทั้งที่ตอนรับเงินกู้สุทธิได้ถูกหักเงินค่าปากถุงไปแล้วจึงมิใช่เงินกู้เต็มจำนวน ลูกหนี้ราษฎรเป็นผู้รับเคราะห์กรรมฝ่ายเดียวเมื่อมีรัฐบาลที่ไร้ความสามารถบริหารประเทศในวันนี้
ดังนั้นเมื่อคุณจะกู้เงิน คุณก็ต้องทำใจจ่ายค่าปากถุง รู้ซะตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่ามาหักคอ บอกทีหลังว่า หักค่าปากถุงหัก,ค่าจัดการเงินกู้ เพราะไม่มีที่ไหนไม่เก็บ แม้กระทั่งตัวนายทุนที่ปล่อยเงินเอง เพราะ ถือว่าเป็นค่าประกันความเสี่ยง เป็นผลตอบแทน หรือกำไร ไม่ว่าจะกู้แบบไหนมันก็ต้องจ่ายค่าปากถุงทั้งนั้น  แม้กระทั่ง ร้อยละยี่สิบยังหักพันละ 50 บาท เพียงแต่ว่าเขาจะบอกคุณตรงๆหรือเปล่าเท่านั้นว่าเป็นค่าปากถุง,หรือเงินปากถุง,ค่าจัดการเงินกู้ ค่าธรรมเนียม หรือค่าดำเนินการ  สรุปถ้าจำเป็นจะใช้เงินจริงๆ จำเป็นต้องกู้เงินจริงๆ ก็ต้องจำใจเสียเงินค่าปากถุง อย่าไปคิดว่าทำไมต้องเสีย ถ้าไม่อยากเสีย ก็ไม่ต้องกู้เค้า ไปยืมญาติ หรือคนรู้จักเอา จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย แต่มันจะเป็นบุญคุณกันหรือเปล่าอันนี้ต้องคิดเอาเองค่ะ บางทีเรากู้แล้วสบายใจกว่าเป็นหนี้บุญคุณใคร เพราะถ้าจะกู้ที่ไหนมันก็ต้องเสียทั้งนั้น แม้แต่ญาติ พี่น้องบางคนเก็บดอกเบี้ยยังมีเลยค่ะ

 


 

Similar Posts