สมาคมคอนโดจี้รัฐกระตุ้นกำลังซื้อ ห้องชุดแลก Mid Term วีซ่า 2-5 ปี
3 นายกอสังหาฯ ชำแหละปัจจัยบวก-ลบ ปี’66 “ส.บ้านจัดสรร” จี้ขยายเพดานลดค่าโอนบ้าน 5 ล้าน-ปลดล็อก LTV ซื้อบ้านหลังที่ 2 “ส.คอนโด” มองจีนเปิดประเทศ ดันตลาดฟื้นเท่าก่อนโควิด “ส.อสังหาฯไทย” เชียร์แก้เกณฑ์บ้าน BOI
เทรนด์ปี 2566 สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั่วโลกมีการเปิดประเทศ รวมถึงไทย ล่าสุด จีนเปิดประเทศเร็วขึ้น ส่งสัญญาณบวกให้กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
คอนโดฯเด้งรับจีนเปิดประเทศ
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีนเปิดประเทศเร็วขึ้นจากเดิม จะเปลี่ยนโมเมนตัมตลาดคอนโดฯให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น 2 ไตรมาสสำหรับยอดขายลูกค้าต่างชาติ
ทั้งนี้ ยอดขายคอนโดฯในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2565 คาดว่าจบที่ 1.4 แสนล้านบาท เมื่อได้ปัจจัยบวกจากจีนเปิดประเทศ และลูกค้าต่างชาติอื่น ๆ คาดว่าจะทำให้ยอดขายคอนโดฯเพิ่มเป็น 2-2.1 แสนล้านบาท
ข้อเสนอแนะรัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติซึ่งมีโควตาซื้อ 49% อยู่แล้ว โดยเสนอแจก “มิดเทอมวีซ่า” อายุ 2-5 ปีให้กับลูกค้าต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯในเมืองไทย
“ลูกค้าต่างชาติเคยซื้อพีกถึง 8-9 หมื่นล้านบาท ยุคโควิดยอดขายตกต่ำเหลือ 5,000 ล้านบาท กรณีจีนเปิดประเทศจะเป็นตัวช่วย คาดว่าปี’66 ยอดขายลูกค้าต่างชาติจะเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นล้านบาทได้”
บริษัทใดที่มีแลนด์แบงก์ในมือจะเป็นจังหวะเปิดขายคอนโดฯได้แล้ว แต่ให้ระมัดระวังอย่าลงทุนเกินตัว โดยเป้าเจาะลูกค้าจีนไม่ควรเกิน 15%
ปี’66 ฟื้นตัวเท่ายุคก่อนโควิด
สำหรับภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 ตนมีมุมมองเป็นบวกว่าน่าจะกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยเติบโตในปี 2562 หรือกลับสู่ยุคก่อนโควิด ซึ่งเร็วขึ้น 1 ปีเมื่อเทียบกับแนวทางการประเมินของสำนักวิจัยอสังหาฯ ทั่วไปที่ประเมินว่าตลาดกลับมาฟื้นตัวในปี 2567
“หากใช้ฐานในปี 2562 ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2565 ยังดรอปลง 20% แต่ก็มีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทันที รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัว และมีสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพี ว่าปีนี้จีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 5%”
ปัจจัยบวก-ปัจจัยลบก้ำกึ่ง
ส่วนปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินบนทำเลสำหรับพัฒนาบ้านแนวราบ จะพบว่าในช่วงโควิด (2563-2565) มีการปรับราคาขึ้นไปค่อนข้างมาก ส่วนที่ดินสำหรับพัฒนาคอนโดฯยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่การขึ้นราคาก็ไม่แรงมากนัก รวมถึงค่าก่อสร้างพุ่งสูงขึ้น ผนวกกับค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ เงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยขาขึ้น
ในฝั่งผู้ประกอบการ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นไปเป็น 2% แต่ก็เชื่อมั่นว่ายังบริหารจัดการได้ เช่น บมจ.บริทาเนีย ในกลุ่มออริจิ้นฯ มีการบริหารจัดการต้นทุนผ่านการออกแบบบ้านโดย Lean วัสดุและพื้นที่ที่ไม่จำเป็น ทำให้ขายในราคาเท่าเดิมได้
ในด้านดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งมีผลกระทบในมุมของลูกค้า อาจมีปัญหายื่นขอสินเชื่อซื้อบ้านจากธนาคาร ทำให้ต้องเลือกบ้านในราคาที่ถูกลง แต่การมีงานทำที่มั่นคง และเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับ 4-5% เชื่อว่าผู้ซื้อจะเอาชนะดอกเบี้ยได้
ทั้งนี้ สินเชื่อบ้านเป็นคอมฟอร์ตโซนของธนาคาร ทำให้มีการแข่งขันลดดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรก หรือที่เรียกว่าดอกเบี้ยโปรโมชั่น เช่น แพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 3% 3 ปีแรก ขณะที่สินเชื่อซื้อบ้านเป็นการผ่อนระยะยาว 20-30 ปี การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่กระทบกับการตัดสินใจ
บ้านจัดสรรห่วงยอดปฏิเสธสินเชื่อ
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯในปี 2566 น่าจะไม่ถึงกับติดลบ และหากเติบโตได้ก็คงไม่เกิน 5% เนื่องจากปัจจัยลบเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยบวกยังคงเดิม เริ่มตั้งแต่ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน และราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการใหม่
ทำให้ราคาบ้านปรับสูงขึ้นเกือบ 10% ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะบริหารจัดการต้นทุนได้ดีแค่ไหน
แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นมองว่าไม่มีผลกระทบมากนัก ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะขอกู้มากกู้น้อย และกู้โดยใช้เครื่องมือทางการเงินแบบไหน โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมีทางเลือกในการกู้เงินที่หลากหลาย การขึ้นดอกเบี้ยก็แทบจะไม่กระทบกับต้นทุน
“ดอกเบี้ยขาขึ้น คนซื้อบ้านกระทบมากที่สุด เพราะทุก 1% ของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อกำลังซื้อลดลง 6% รวมทั้งมีผลกระทบเรื่องความสามารถในการขอสินเชื่อของผู้ซื้อบ้านด้วย พิจารณาจากยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารยังมีอัตราสูงอยู่ ซึ่งน่าห่วงมากกว่า
จี้ทบทวน LTV-ซื้อบ้านหลังที่ 2
ส่วนมาตรการรัฐ โดยเฉพาะ LTV-loan to value ซึ่งแบงก์ชาติไม่ต่ออายุการผ่อนปรนหลังจากเปิดให้ใช้ LTV 100-110% จนถึง 31 ธันวาคม 2565 สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรชี้แจงกับรัฐบาลไปแล้วว่า เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ขอให้ต่ออายุผ่อนปรนออกไปอีก 1 ปี
“ประเด็น LTV ผ่อนปรนคือขอสินเชื่อได้ 100-110% แต่ LTV ปกติมีเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก ขอสินเชื่อได้เพียง 70-90% ดังนั้น อยากให้ต่ออายุมาตรการไปอีก 1 ปี เพื่อให้คนที่เพิ่งซื้อบ้านมีเวลาตั้งตัว”
จุดโฟกัสสำคัญอีกเรื่องคือ แบงก์ชาติยังไม่มีมุมมองว่าการซื้อบ้านแนวราบหลังที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นในยุค เพราะจากการสำรวจผู้เข้าชมงานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งล่าสุด พบว่า 30% เป็นกลุ่มคนที่มาเดินดูบ้านหลังที่ 2 ทั้งคนมีบ้านหลังแรกที่ต้องการซื้อหลังที่ 2 เป็นคอนโดฯ และมีคอนโดฯหลังแรกอยู่แล้วต้องการซื้่อหลังที่ 2 เป็นบ้านแนวราบ
“ความจำเป็นของการมีบ้านหลังที่ 2 ในยุคปัจจุบัน เช่น คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อยากซื้อคอนโดฯทดแทนการเช่า หรือคนกรุงเทพฯไปทำงานในอีอีซี อยากซื้อบ้านหลังที่ 2 ทดแทนการเช่าเช่นกัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็งกำไร”
ขยายเพดานลดค่าโอน 5 ล้าน
ในส่วนมาตรการลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (property tax) 15% สำหรับรอบปี 2566 นั้น ข้อเสนอสมาคมบ้านจัดสรรขอให้มีการเรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันไดในช่วง 3 ปี โดยปี 2566 เสนอจัดเก็บ 50% ปี 2567 จัดเก็บ 75% และในปี 2568 จัดเก็บ 100% เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
รวมทั้งการต่ออายุมาตรการลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 1% ค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% โดยคงเพดานเดิมให้สิทธิประโยชน์กลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งสมาคมบ้านจัดสรรเสนอขอให้ขยายเพดานราคาบ้านจาก 3 ล้านเป็น 5 ล้านบาท เนื่องจากมีการให้สิทธิประโยชน์บ้านราคา 3 ล้านบาทแล้วในช่วงโควิด ทำให้มีการดูดซับออกไปจำนวนมากแล้ว หากรัฐขยายเพดานเป็น 5 ล้านบาท จะช่วยระบายสต๊อก และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าศักยภาพสูง สามารถซื้อและโอนได้ มียอดปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่ากลุ่มราคา 3 ล้านบาท
“ปี 2566 รัฐบาลควรกระตุ้นคนที่มีความพร้อมทางการเงิน ให้ออกมาใช้เงิน”
LTV 100% บ้านต่ำ 10 ล้าน
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่าภาครัฐควรต่ออายุ LTV 100-110% ออกไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2566 ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทลงมา ซึ่งเป็นฐานตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกำลังซื้อผู้บริโภคคนไทย
“ปี 2566 แทบจะหาปัจจัยบวกไม่ได้เลย หลายคนไปคาดหวังกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ยากที่สุด เพราะรายได้ไม่แน่นอน”
เชียร์แก้เกณฑ์ “บ้านบีโอไอ”