เทศกาลของชาวจีน

เทศกาลใหญ่ ๆ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมาและเป็นที่คุ้นเคยมากที่สุดของประชาชนจีนนั้นมีอยู่ด้วย 8 เทศกาลคือ
เทศกาลตรุษจีน  เทศกาลหยวนเซียว  เทศกาลชิงหมิง  เทศกาลตวนอู่  เทศกาลจงเหวียนเทศกาลจงชิว เทศกาลฉงหยาง เทศกาลวันตงจื้อ
เนื่องจากเทศกาลทั้ง 8 ดังกล่าว เป็นวัฒนธรรมของชนชาติจีนที่แพร่หลายกันมาอย่างกว้างขวางและมีประวัติอันยาวนานดังนั้น จึงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน………….สำหรับชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในประเทศไทยลูกหลานชาวจีนเหล่านั้นอาจไม่รู้ซึ้งถึงความเป็นมาของเทศกาลเหล่านี้พอถึงวันเทศกาลก็ได้แต่ทำตามธรรมเนียมที่บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติกันมา เช่น…..ไหว้พระ ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่รู้ถึงความเป็นมาของเทศกาลที่เล่าขานกันมาอย่างแท้จริง


1. เทศกาลตรุษจีน
หรือเทศกาลใบไม้ผลิ เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1ตามจันทรคติ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีน ชาวจีนทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลกต่างมีการเฉลิมฉลองกัน เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลใหญ่ มีการฉลองกันหลายวัน โรงงาน ร้านค้า และสำนักงานส่วนใหญ่ปิดทำการกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในประเทศจีน ธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองตรุษจีนนั้นหลากหลายมาก ประชาชนจะเทเงินของตนเพื่อซื้อของขวัญ ของประดับตกแต่ง วัสดุ อาหารและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังมีประเพณีว่า ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ เพื่อปัดกวาดโชคร้ายด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา มีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษตัดสีแดงและคู่กับธีม โชคดี, “ความสุข, ความมั่งคั่ง และ ชีวิตยืนยาว ที่ได้รับความนิยม ในคืนก่อนตรุษจีน อาหารค่ำเป็นการกินเลี้ยงกับครอบครัว อาหารนั้นจะมีเช่น หมู เป็ด ไก่และอาหารอย่างดี รสหวาน ครอบครัวจะปิดท้ายค่ำคืนด้วยประทัด เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กจะทักทายบิดามารดาของตนโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและสวัสดีปีใหม่ และได้รับเงินอั่งเปา ประเพณีตรุษจีนนั้นเพื่อการสมานฉันท์ ลืมความบาดหมางและปรารถนาสันติและความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ
2. เทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ คือวันขึ้น 15 ค่ำในเดือน 1 ตามจันทรคติ ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงวันแรกของปี ในสมัยโบราณ หยวนเซียวเป็นเทศกาลสำคัญ มีการเฉลิมฉลองโดยการแห่โคมไฟเป็นขบวนที่มีการประดับประดาอย่างสวยงาม ประชาชนทั่วไปจะพากันออกมาชมโคมไฟในช่วงเวลาค่ำคืน แม้สุภาพสตรีผู้ดีที่มีฐานะก็จะออกมาชมการแห่โคมไฟที่ระเบียงหน้าบ้านของตนเอง ในวันนี้ ในที่ต่างๆจะมีการไหว้เจ้า ซึ่งในมณฑลทางใต้ของประเทศจีนนิยมเซ่นไหว้ ด้วยสิงโตที่ทำจากน้ำตาล และที่ปั้นจากถั่วลิสงในค่ำคืนของวัน หยวนเซียว   คนที่มีความรู้จะชุมนุมกันดื่มเหล้าดื่มน้ำชา แต่งกลอนและทายปริศนากันอย่างสนุกสนาน
3. เทศกาลชิงหมิงหรือเทศกาลเช็งเม้งในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นวันที่คนจีนกราบไหว้บรรพบุรุษที่ลุสานหรือที่บ้านเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันเช็งเม้ง บุตรหลานในครอบครัวเดียวกันจะมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันอย่างพร้อมเพรียง แต่ในปัจจุบันซึ่งมีคนที่ต้องออกไปทำงานในที่ห่างไกลจากบ้านเกิดจำนวนมาก จึงอาจมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันโดยไม่ได้เดินทางไปที่สุสาน และบ้างก็ไม่ได้ไปที่สุสานตรงกับวันเช็งเม้ง เพราะติดภารกิจหรือเพื่อหลีกเลี่ยงจราจรที่ติดขัดในวันนั้น แต่ก่อนเชื่อกันว่า การเซ่นไหว้บรรพบุรุษควรทำการภายในเวลาก่อนหรือหลังเช็งเม้งสามวัน สำหรับในประเทศไทยเทศกาลเช็งเม้ง ถือวันที่ 5 เมษายนเป็นหลัก[ต้องการอ้างอิง] (บางปีจะเป็นวันที่ 4 เช่น เชงเม้งในปี 2567,2568) แล้วนับวันก่อนถึง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน รวมเป็น 7 วัน (2 – 8 เมษายน) แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจรคับคั่ง เลยขยายช่วงเวลาเทศกาลให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ (ประมาณ 15 มีนาคม – 8 เมษายน) แต่ในภาคใต้บางพื้นที่ เช่น จังหวัดตรังจะจัดเร็วกว่าที่อื่น 1 วัน ประมาณวันที่ 4 เมษายนของทุกปี
4. เทศกาลตวนอู่หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามจันทรคติ ในวันนี้ คนจีนจะห่อขนมจ้าง คือข้าวที่ห่อด้วยใบไผ่ โดยอาจมีไส้หลายอย่าง และมีการแข่งเรือกันตามแม่น้ำลำคลองกล่าวกันว่า เทศกาลตวนอู่นี้ เป็นวันที่คนจีนระลึกถึงชวีเหวียนซึ่งเป็นขุนนางในรัฐฉู่ในสมัยเลียดก๊ก เมื่อกว่า 2000 ปีที่แล้ว ชวีเหวียน เป็นผู้รักชาติ เขาเตือนกษัตริย์รัฐฉู่ว่าอย่าไปหลงเชื่อคำหลอกลวงของรัฐฉิน แต่กษัตริย์ไม่เชื่อ กลับปลดเขาออกจากตำแหน่ง ในที่สุด รัฐฉู่ก็ต้อง เสียดินแดนและกษัตริย์ฉู่ก็ถูกกักขังในรัฐฉิน ชวีเหวียนรู้สึกเศร้าสลดกับสภาพของบ้านเมืองที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย และการปกครองของประเทศที่ต้องถูกครอบงำโดยขุนนางที่ฉ้อฉล จึงเขียนบทกวีระบายความอัดอันตันใจ เราไปโดดน้ำตาย เมื่อชาวบ้านทราบข่าวเรื่องการตายของชวีเหวียน จึงพากันพายเรือเพื่อตามหาศพของเขา และเอาข้าวที่ห่อด้วยใบไผ่ไปโปรยลงในน้ำเป็นนัยว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ฝูงปลามากินซากศพของชวีเหวียน ประเพณีการห่อขนมจ้างและการแข่งเรือก็มีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
5. เทศกาลจงเหวียนหรือเทศกาลสารทจีนตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน7ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลสารทจีนไม่ถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่ในประเทศจีน แต่คนจีนที่อยู่ในมณฑลทางใต้ของจีนถือว่าสารทจีนเป็นเทศกาลที่สำคัญตามความเชื่อของคนจีน เดือน 7 ตามจันทรคติเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายออกมารับสิ่งของบริจาคและรับกุศลผลบุญกัน วันสารทจีนจึงเป็นวันที่ลูกหลานชาวจีนแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการทำพิธีเซ่นไหว้ ทั้งยังเป็นการสร้างบุญกุศลโดยการเลี้ยงอาหารให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ไร้ญาติและปราศจากการดูแล ประเพณีสารทจีนนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้าและมีความสุข
6. เทศกาลจงชิวหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของจันทรคติ คนจีนเชื่อว่า ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงมีความสว่างสดใสที่สุด ในวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นวันที่อยู่กลางฤดูใบไม้ร่วง ดวงจันทร์จะมีความสดใสสวยงามเป็นพิเศษ เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นอีกวันหนึ่งที่คนจีนในครอบครัวเดียวกันจะมาพบปะกัน ชมดวงจันทร์ ไหว้เจ้าที่อยู่บนดวงจันทร์ และกินขนมไหว้พระจันทร์กันในวันนี้ คนจีนจะฉลองกันในรูปแบบต่างๆ นอกจากการไหว้พระจันทร์แล้ว ในบางที่ยังมีการการแห่โคมไฟที่ประดับประดาอย่างสวยงาม และมีการละเล่นกันในลักษณะอื่นในเวลาค่ำคืน ขนมประจำเทศกาลจงชิวคือขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์ที่มีรูปทรงกลม ทำจากแป้งและมีไส้เป็นพืชพันธ์ธัญญาหารต่างๆ จงชิวเป็นเทศกาลหนึ่งที่สำคัญของคนจีน การฉลองเทศกาลจงชิวมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดวงจันทร์ที่มีทรงกลมแสดงความหมายถึงความสมบูรณ์ ครบถ้วน เทศกาลจงชิวนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนในครอบครัวมาร่วมกันฉลอง นอกจากนี้ เทศกาลนี้ยังเป็นเทศกาลแห่งความปรองดอง สมานฉันท์ สำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีที่ยังไม่มีคู่ครองหรือคู่รัก จะภาวนาให้ตนได้พบกับคนรักตามความปรารถนา เพราะคนจีนเชื่อกันว่า เทพเจ้าพระจันทร์มีหน้าที่ในการจับคู่ชายหญิงเข้าด้วยกัน
7. เทศกาลฉงหยางหรือเทศกาลทัศนาจรขึ้นเขาไปปิกนิกตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ ตามความเชื่อของคนจีน เลข 9 เป็นเลขหยางคือเลขที่แสดงขั้วบวกหรือเพศผู้วันที่ 9 เดือน 9 ซึ่งเป็นวันที่มีหยางคู่กัน  2 ตัว จึงถือกันว่าเป็นวันมงคล ในวันนี้ คนจีนในสมัยก่อนจะพากันออกไปปีนเขา ชมดอกเบญจมาศ ดื่มเหล้าที่ทำจากดอกเบญจมาศหรือดอกเก๊กฮวย และปลูกสมุนไพรที่เรียกกันว่าจูหวีซึ่งคนจีนเชื่อกันว่าสามารถไล่พิษได้ กล่าวกันว่า เมื่อกว่า 2000 ปีก่อน มีผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ มีวิชาอาคมคนหนึ่ง สามารถหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆที่ยังไม่เกิดขึ้น ทราบว่าในวันที่เก้าเดือนเก้า โลกมนุษย์จะประสบภัยพิบัติร้ายแรง จึงแนะนำให้ชาวบ้านออกจากบ้าน ไปปีนสู่ที่สูงในวันนั้น และหาหญ้าจูหวี ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนแขวนไว้นอกบ้าน และเสียบบนหัว ชาวบ้านต่างทำตามคำแนะนำ จนถึงเวลาค่ำกลับเข้าบ้าน พบว่า สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบ้านตายไปหมดแล้ว แต่คนที่ออกไปนอกบ้านต่างก็กลับมาโดยสวัสดิภาพ ต่อมา ในเทศกาลฉงหยาง จึงเป็นวันที่คนจีนออกไปปีนเขา ชมดอกเบญจมาศ ปลูกต้นจูหวี และยังมีการทำขนมฉงหยางเกา ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ซึ่งคำว่าเกา ออกเสียงเหมือนกับคำสูง ซึ่งยังสื่อความหมายว่าสามารถเจริญเติบโตหรือไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงในชีวิตการงาน ในปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้กำหนดให้วันฉงหยาง เป็นวันผู้สูงอายุและวันฉงหยาง ซึ่งมีเลข9อยู่สองตัวคือ99 ออกเสียงเป็นภาษาจีนว่าจิ๋วจิ่ว ซึ่งมีความหมายว่ายาวนานหรือยืนนาน หรือนัยหนึ่ง แสดงว่ามีอายุยืนยาว รัฐบาลจีนจึงรณรงค์ให้เด็กเด็กและหนุ่มสาวถือเอาวันนี้เป็นวันแสดงความเคารพ คารวะต่อผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ
8. วันตงจื้อหรือเทศกาลขนมอี๋กับล่าปา ตงจื้อแปลว่า ฤดูหนาวมาถึงแล้ว วันเทศกาลตงจื้อนี้ถือว่า เป็นวันที่ฤดูกาลเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว เทศกาลนี้อยู่ในช่วงปลายปี เป็นวันที่คนจีนเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันคล้ายกับวันเช็งเม้งซึ่งอยู่ในช่วงต้นปี ในสมัยโบราณ วันตงจื้อถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง โดยกษัตริย์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษเช่นเดียวกับวันเช็งเม้ง ขนมประจำเทศกาลตงจื้อ คือขนมบัวลอยซึ่งเป็นขนมเม็ดกลมที่ทำจากแป้งเรียกว่าขนมเหวียน ซึ่งในภาษาจีนนอกจากแปลว่ากลมแล้ว ยังมีความหมายไปในทางกลมกลืน สมบูรณ์ ราบรื่น ซึ่งมีนัยว่า คนในครอบครัวอยู่กันอย่างปลดถ้วนและมีความกลมกลืน ในสมัยก่อน เทศกาลตงจื้อ ถือตามวันจันทรคติ แต่ในสมัยปัจจุบัน ตงจื้อมักกำหนดให้ตรงกับวันที่ 21หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปี เช่นเดียวกับวันเช็งเม้ง วันตงจื้อ ก็เป็นวันที่คนจีนเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ประเทศกาลเช็งเม้งอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก คนจีนบางส่วนมีการบรรพบุรุษในวันตงจื้อ แทนที่จะไหว้ในวันเช็งเม้ง(หรือบางคนก็ว่าทั้งสองวัน) เนื่องจากวันตงจื้อเป็นเทศกาลสุดท้ายก่อนสิ้นปี คนจีนจึงเห็นว่า เมื่อผ่านวันนี้ไปแล้ว ก็ถือได้ว่ามีอายุเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปีแล้ว
ที่มา:INEWHORIZON

Similar Posts