จำนำความหมายจำนำ
ความหมายของการจำนำ
จำนำ คือ การที่บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนำ” นำสังหาริมทรัพย์ไปส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ (ป.พ.พ.มาตรา๗๔๗)
ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงินจาก นาย ข. เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท โดยนาย ก. ได้มอบสร้อยคอทองคำให้นาย ข. ยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ๓,๐๐๐ บาท ของนาย ก. สัญญาเช่นนี้ เรียกว่า”สัญญาจำนำ“
ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้
ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้แก่ “สังหาริมทรัพย์” ทุกชนิด”สังหาริมทรัพย์” ได้แก่ ทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งอาจเคลื่อนจากที่หนึ่งไปแห่งอื่นได้ เช่น รถยนต์,นาฬิกา,แหวน,สร้อย ฯลฯ
สิทธิของผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนแล้วจนครบถ้วน (ป.พ.พ. มาตรา ๗๕๘)
สิทธิจำนำ
มีขอบเขตเพียงใดการจำนำย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้ คือ
๑.เงินต้น
๒.ดอกเบี้ย
๓.ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้
๔.ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
๕.ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งจำนำ
๖.ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่จำนำซึ่งผู้รับจำนำมองไม่เห็นในวันรับจำนำของเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว หากลูกหนี้ (ผู้จำนำ) ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ผู้รับจำนำต้องบังคับจำนำทรัพย์ที่จำนำนั้น ผู้รับจำนำจะยึดถือเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเอง โดยไม่มีการบังคับจำนำไม่ได้
การบังคับจำนำมีวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
๑.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว
๒.ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้
๓.ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด
ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด ๑ เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าวก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใดผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ.มาตรา ๗๖๕)
ข้อตกลงไว้ล่วงหน้าว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของผู้รับจำนำโดยไม่ต้องมีการบังคับจำนำข้อตกลงเช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับได้ กล่าวคือ กฎหมายบังคับให้ต้องมีการบังคับจำนำด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิยึดเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเองไม่ได้
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินมาแล้วต้องดำเนินการอย่างไร
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนำมีสิทธิหักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้คืนแก่ตนได้จนครบถ้วน หากมีเหลือเท่าใดผู้รับจำนำต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำไปแต่ถ้าเงินที่ขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้คืนแล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนำต้องใช้คืนให้แก่ผู้รับจำนำจนครบถ้วน (ป.พ.พ.มาตรา ๗๖๗)
ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วจะมีผลอย่างไร
ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วกฎหมายให้ถือว่าการจำนำนั้นระงับไปผู้รับจำนำจะใช้สิทธิในการบังคับจำนำเอากับทรัพย์นั้นอีกไม่ได้คงทำได้แต่เพียงฟ้องร้องบังคับตามหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ค้างชำระแก่ตนได้เท่านั้น.
ที่มา:แผ่นพับรวมกฎหมายที่ประชาชนควรรู้
จัดพิมพ์โดย:สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน
(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด