กฎหมายสมรสเท่าเทียม

กฎหมายสมรสเท่าเทียม

กฎหมายสมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียมคือ การสมรสระหว่างบุคคลสองคนที่มีเพศหรือสถานะเพศเดียวกัน โดยการรับรองการสมรสเพศเดียวกันหรือการประกอบการสมรสเพศเดียวกัน  เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง เช่น จดทะเบียนสมรส สิทธิในการหมั้นและสมรส สิทธิในการจัดการ ทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการใช้นามสกุล สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล สิทธิในมรดก เป็นต้น
วันที่ 23 ม.ค. 2568 เป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ มอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย (ดูกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับเต็มได้ที่รูปข้างล่างนี้)

 

สาระสำคัญ (บางประการ) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายสมรสเท่าเทียม
1. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จะทำการหมั้นหรือการสมรสจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล”
2. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่หมั้นกันแล้ว จาก “ชายและหญิงคู่หมั้น” เป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น”
3. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จาก “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
4. อายุขั้นต่ำที่สามารถทำการหมั้น-การสมรส: เพิ่มจากอายุขั้นต่ำ 17 ปี เป็น “18 ปี” (แต่เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะ การสมรสของบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองอยู่)
5. เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 3 จาก “ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส”
6. คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ของอีกฝ่ายได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463)
7. เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 4 จาก “ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส”
8. การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสทั้งเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรสระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกันยังคงใช้หลักการเดิมใน ป.พ.พ. กล่าวคือ สินสมรสที่คู่สมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
9. ในส่วนความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคู่สมรสมีการเพิ่มเติมส่วนของ “กระทำหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น” เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงเรื่องการ “ร่วมประเวณี” เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบที่หลากหลายในความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส
10. คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ (มาตรา 1598/26)
11. คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายในฐานะทายาทโดยธรรม ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ครอบคลุมมากกว่าเพียงแค่ “ชายและหญิง” เท่านั้น และผลจากการที่บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสและอยู่ร่วมกันในฐานะคู่สมรสตามกฎหมายได้ ทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิที่เท่าเทียมมากขึ้น เช่น บุคคลสัญชาติไทยที่ประสงค์จะสมรสกับบุคคลสัญชาติอื่นก็สามารถสมรสกันตามกฎหมายไทยได้ บุคคลเพศเดียวกันที่จะทะเบียนสมรสกันแล้วสามารถใช้สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาลในฐานะคู่สมรสได้ เป็นต้น

 

ที่มา:มหาวิทยาลัยพะเยา

Similar Posts