กฎหมายเกี่ยวกับบุตร

กฎหมายเกี่ยวกับบุตร

เรื่องของบุตร

   ปัญหาเรื่องความเป็นบิดา และบุตร หรือความเป็นพ่อแม่ลูกนั่นเอง ถ้าดูผิวเผินอาจจะมองเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้ๆ กันอยู่ว่า ครอบครัวนี้มีใครเป็นบิดามารดาของเด็ก แต่ในทางกฎหมายไม่ได้พิจารณา จากข้อเท็จจริงที่รู้ ๆ กัน บางทีเรารู้ว่า ผู้ชายคนนั้นเป็นบิดาของเด็ก แต่กฎหมายกลับไม่ยอมรับว่าเขาเป็นบิดา
ตัวอย่าง ก แต่งงานกับ ข ตามประเพณี และอยู่กินกันฉันสามี ภริยา นาง ข ตั้งครรภ์และคลอดลูก เช่นนี้เราย่อมรู้ว่า นาย ก เป็นบิดาของ เด็กคนนั้น แต่กฎหมายไม่ยอมรับว่า นาย ก เป็นบิดาของเด็ก
การที่ชายหญิงจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายกำหนดว่าจะต้องจดทะเบียนสมรส (จดทะเบียนสมรส ณ ที่ทำการอำเภอ) หากอยู่กินกันเฉย ๆ โดยไม่จดทะเบียนสมรส แม้เราจะรู้ว่าเขาเป็น สามีภริยากัน แต่กฎหมายกลับไม่ยอมรับว่าเป็นสามีภริยากันเลย และไม่ถือ ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันเลย ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันนานสักเพียงใด ดังนั้น หากชายหญิงต้องการเป็นสามีภริยาถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะต้องจดทะเบียนสมรสเสมอ
ฉะนั้น ในปัญหาที่ว่า ใครเป็นบิดา มารดาของเด็ก จะขอแยก พิจารณาเป็น ๒ กรณี
๑. เมื่อมีการจดทะเบียนสมรส
๒. เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรส
เมื่อมีการจดทะเบียนสมรส เด็กที่เกิดจากหญิงที่ได้ทำการ สมรสตามกฎหมายย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย เห็นได้ว่า กฎหมายยอมรับว่าชายจะเป็นบิดาของเด็ก เมื่อได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว
เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรส กรณีเด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้ ทำการสมรสตามกฎหมาย ไม่ว่าจะแต่งงานตามประเพณี หรือพากันหนีไป อยู่ด้วยกัน (ที่เรียกว่า วิวาห์เหาะ) เด็กนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชาย เพราะไม่มีการสมรส (ไม่มีการจดทะเบียนสมรส) จึงทำให้ ชายและหญิงไม่มีความสัมพันธ์กันแต่ประการใด กฎหมายไม่ยอมรับว่าชาย เป็นสามีของหญิง (มารดาของเด็ก) ซึ่งเป็นผลทำให้ชายไม่เป็นบิดาของเด็ก ตามกฎหมาย
ตามข้อ ๒ นี้ จะมีทางใดที่จะทำให้เด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชาย กฎหมายได้กำหนดวิธีไว้ ๓ ประการ(๑) ชายคนนั้นได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงในภายหลัง เมื่อชายได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงที่เป็นมารดาของเด็กในภายหลัง การสมรส นี้มีผลทำให้เด็กที่เกิดออกมาก่อนการสมรสนั้น เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของชายทันทีนับแต่วันที่ทำการจดทะเบียนสมรสกันนั่นเอง บุตรที่เกิดก่อนมีการสมรสนั้น จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ชายได้ตามกรณีนี้ก็ต่อเมื่อชายนั้นเป็นบิดาของเด็กที่แท้จริงด้วย หากหญิงไป สมรสกับชายอื่นซึ่งไม่ใช่บิดาเด็กนั้น ก็ไม่มีผลทำให้เป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชายคนนั้นได้
ตัวอย่าง นาย ก แต่งงานตามประเพณีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส กับนางสาว ข ต่อมานางสาว ข ตั้งครรภ์และคลอดลูก เด็กที่เกิดมานั้นไม่ใช่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ก ถ้านาย ก ต้องการให้เด็กคนนั้นเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของตน ก็ทำโดยจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข ภายหลัง แต่ถ้านางสาว ข จดทะเบียนสมรสกับคนอื่นที่ไม่ใช่ นาย ก เช่น จดทะเบียน สมรสกับนาย ค เช่นนี้ ไม่ทำให้เด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ นาย ค เพราะนาย ค ไม่ใช่บิดาที่แท้จริงของเด็ก
(๒) ชายคนนั้นได้รับรองบุตร กรณีนี้ต่างจากข้อ ก เพราะไม่ได้ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก แต่เป็นการจดทะเบียนรับรองว่าเด็กที่ เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน
การจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรนั้น จะมีผลทันทีนับแต่วันจด ทะเบียน และจะมีผลแต่เฉพาะเด็กที่บิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรเท่านั้น เด็กคนอื่นแม้จะเป็นพี่น้องเดียวกันกับเด็กคนนั้น ก็ไม่มีผลเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย
การจดทะเบียนรับรองบุตรนี้ไม่ทำให้มารดาของเด็กเป็นภริยาที่ชอบ ด้วยกฎหมายของชายแต่ประการใด
ตัวอย่าง นายแดง แต่งงานตามประเพณีกับนางสาวขาว โดยไม่ได้ จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ ก, ข, ค, ง และ จ เด็กทั้ง ๕ คน ไม่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของนายแดง ถ้านายแดงต้องการให้ ก และ ข เป็นบุตรของตนตามกฎหมาย ก็จดทะเบียนรับรอง ก และ ข เป็นบุตรของตนได้ เช่นนี้ย่อมไม่ทำให้ ค, ง และ จ เป็นบุตรตามกฎหมายของนายแดงไปด้วย อีกทั้งไม่ทำให้นางสาวขาวเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของนายแดงเช่นกัน
(๓) ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ถ้าหากชายไม่ยอมจดทะเบียน สมรสกับหญิง หรือไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ก็ยังสามารถทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษา ให้ชายรับเด็กที่เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน
การฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของชายนี้ จะมีผลทันทีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และมีผลเฉพาะเด็กคนนั้น เด็กคนอื่นแม้เป็นพี่น้องเดียวกันกับเด็กคนนั้น ก็ไม่อาจเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของชายได้ อีกทั้งไม่ทำให้มารดาของเด็กเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ ชายเช่นกัน
(๑) หญิงซึ่งเป็นมารดาของเด็กไม่มีสิทธิฟ้องศาลเพื่อให้ชายรับรอง ตนเองว่าเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิแต่เพียงฟ้องขอให้รับเด็กที่เกิดจากตนและชาย ให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายเท่านั้น
(๒) ที่กล่าวมา เป็นเรื่องเฉพาะของชายว่า ชายจะเป็นบิดาที่ชอบ ด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดมาหรือไม่ เท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงหญิงเลยว่า กรณีใดหญิงจะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กได้บ้าง เหตุที่ไม่ได้กล่าว ก็เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว หญิงต้องเป็นมารดาของเด็กอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรส หรือไม่มีก็ตาม หญิงก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเด็กที่เกิดมา นั้นไม่ใช่บุตรของตน เพราะตนเป็นคนคลอดเด็กออกจากครรภ์ของตน ฉะนั้น เด็กจึงย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงเสมอ
สรุป เด็กที่เกิดจากหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายย่อมเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของชายและหญิง แต่ถ้าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้ทำการ สมรสตามกฎหมาย ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้เป็นมารดา เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายจนกว่าชายคนนั้นจะได้ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็กในภายหลัง หรือจดทะเบียนรับรองว่า เด็กเป็นบุตรของตน หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรเท่านั้น

บุตรบุญธรรม

บุคคลอาจขอรับบุตรของผู้อื่นมาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ โดยการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของตน กฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การรับบุตรบุญธรรมไว้ดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ และต้องแก่กว่าผู้ที่ตนจะรับเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี
(๒) ถ้าหากผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ การรับบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมและถ้าผู้ที่ เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ก็ต้องให้ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม สมัครใจด้วย
(๓) ถ้าไม่มีผู้ให้ความยินยอมดังกล่าว หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอม และการปฏิเสธไม่ให้นั้นเป็นไปโดยไร้เหตุผล และเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเจริญหรือ สวัสดิภาพของผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาต ให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้
(๔) ถ้าผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสโดย ชอบด้วยกฎหมายด้วยการรับบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือ ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า ๑ ปี ในกรณีนี้ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
(๕) บุตรบุญธรรมจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะเดียวกัน ไม่ได้ และการรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แล้ว
ข้อสังเกต บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วย กฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา เช่น สิทธิในการรับมรดกบิดามารดาเดิม เมื่อมีการจดทะเบียนรับ บุตรบุญธรรมแล้วอำนาจปกครองบิดามารดาโดยกำเนิดก็หมดไปนับแต่วันเวลา ที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรม
ถ้าจะเลิกรับบุตรบุญธรรม ทำได้ดังนี้
(๑) ในกรณีที่บุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ การเลิกก็ต้องได้รับความ ยินยอมจากบิดาและมารดาก่อน
(๒) ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว อาจตกลงกันเองระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม แล้วไปจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมก็ได้ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อ มีการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม
ที่มา:baannut99.com

Similar Posts