ติดหนี้บัตรเครดิตอาจถูกยึดทรัพย์อายัดเงินเดือน

ติดหนี้บัตรเครดิต อย่าเผลอ จะถูกยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน
เพื่อนๆ คนวัยทำงานยุคนี้ คงมีจำนวนไม่น้อยเลยใช่ไหมคะที่ใช้ บัตรเครดิต เป็นตัวช่วยในการใช้จ่ายที่สะดวกสบาย แต่สำหรับบางคนก็อาจเผลอรูดบัตรเครดิตเพลินจนเกินตัวอยู่ไม่น้อย
ถ้าเราชำระยอดใช้งานบัตรเครดิตได้ตรงเวลาก็ถือว่าไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่ใช้บัตรเครดิต แล้วเผลอผิดนัดชำระหนี้ ไม่จ่ายหนี้ที่มีให้ตรงเวลาหรือตรงตามจำนวนที่ต้องจ่าย ก็อาจเสี่ยงต่อการโดน เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ถูกอายัดเงินเดือนตัวเองได้
ใครที่ยังไม่รู้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้บัตรเครดิตสามารถทำอะไรเราได้บ้าง บทความนี้แอดมิน Home Buyers เลยจะมาแชร์ข้อมูลให้เพื่อนๆ ทุกคนระวังตัวถึงผลร้ายของการเผลอติดหนี้บัตรเครดิตกันค่ะ
รู้หรือไม่! ติดหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้
กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ (สถาบันการเงิน) ชนะคดี โดยถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ ซึ่งศาลจะแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดทรัพย์สินขึ้นมา และทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้ก็มีดังนี้
♦ ของมีค่า อาทิ เครื่องประดับที่มีมูลค่าอย่าง เพชร พลอย นาฬิกา สร้อยคอทองคำ ฯลฯ
♦ บ้านและที่ดิน ในนามที่เป็นชื่อลูกหนี้ ทั้งที่ติดจำนองหรือไม่ติดจำนอง
♦ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ในนามที่เป็นชื่อลูกหนี้ และต้องไม่เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
♦ ของใช้ส่วนตัว อาทิ เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
♦ เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ที่มีมูลค่ารวมแล้วเกิน 100,000 บาท
เจ้าหนี้อายัดยึดเงินเดือนและเงินลงทุนใดได้บ้าง?
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี แต่ลูกหนี้ยังเพิกเฉย ไม่ติดต่อใช้หนี้ หรือตกลงการจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็ทำให้ฝ่ายเจ้าหนี้อาจทำเรื่องขอยึดทรัพย์และอายัดเงินได้เช่นกัน โดยลูกหนี้ผู้ที่จะถูกอายัดเงินเดือนนี้สามารถเป็นได้ทั้งพนักงานเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ซึ่งเงินเดือนและเงินลงทุนที่สามารถยึดได้ มีดังนี้
♦ เงินเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท แต่หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเลี้ยงดูลูก ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ก็สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดี เพื่อขอลดเปอ์เซ็นต์เงินเดือนที่จะถูกอายัดได้
♦ เงินโบนัส สามารถอายัดได้ แต่ต้องอายัดได้ไม่เกิน 50%
♦ เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ อายัดได้เฉพาะที่เป็นสังกัดเอกชน เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
♦ เงินตอบแทนการออกจากงาน โดยปกติอายัดได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามเจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร
♦ เงินค่าตอบแทนและค่าสวัสดิการต่างๆ อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าไฟ และค่าน้ำ เป็นต้น
♦ เงินในบัญชีเงินฝากหรือเงินปันผลจากการลงทุน
♦ ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน อาทิ หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ และกองทุน เป็นต้น
ทรัพย์สินใดบ้างที่เจ้าหนี้ยึดทรัพย์และอายัดไม่ได้?
แม้จะมีทรัพย์สินหลายอย่างที่เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์และอายัดได้ แต่ก็ยังมีทรัพย์สินที่เป็นข้อยกเว้นอีกหลายข้อ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์หรืออายัดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
♦ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นรายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ จำนวนไม่เกิน 20,000 บาท
♦ เงินบำนาญ เงินบำเหน็จ หรือรายได้อื่นๆ ลักษณะเดียวกันของพนักงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท
♦ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยหวัด และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ ของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ
แล้วถ้าลูกหนี้เสียชีวิต ต้องทวงหนี้จากใคร?
แม้กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ก่อหนี้ต้องเป็นคนรับผิดชอบ จึงชัดเจนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายจะไม่ถูกโอนทวงหนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลง โดยเมื่อลูกหนี้บัตรเครดิตเสียชีวิต เจ้าหนี้จะต้องไปทวงหนี้จากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้น แต่ถ้าลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนตาย จะถือเป็นหนี้สูญ ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้จะไม่ได้รับชำระหนี้คืน
อายุความของคดีหนี้บัตรเครดิต นับยังไง?
เมื่อเจ้าหนี้แจ้งกำหนดการชำระหนี้บัตรเครดิตให้ลูกหนี้ทราบแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความของคดีหนี้บัตรเครดิตจะถูกนับทันทีในวันถัดไป และจะมีอายุความทั้งหมด 2 ปี นับจากผิดนัดชำระหนี้
แม้บัตรเครดิตจะช่วยให้เราสะดวกสบายในการจ่ายเงิน แต่ผลที่ตามมาหากผิดชำระหนี้บัตรเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ดังนั้นหากใช้บัตรเครดิตแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชำระยอดใช้จ่ายให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นตามมา ทางที่ดีที่สุดคือการมีความรับผิดชอบ ไม่ก่อหนี้เกินตัวไว้นั่นเองค่ะ
ที่มา:https://www.home.co.th