ลดค่าโอนจดจำนอง0.01%

กระตุ้นอสังหาฯใช้หลังสงกรานต์

ลดค่าโอนจดจำนอง0.01%กระตุ้นอสังหาฯใช้หลังสงกรานต์

กรมที่ดิน คาดการณ์ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง เหลือ 0.01%   มีผลใช้หลัง เทศกาลสงกรานต์ ไปจนถึง มิ.ย. 69 หวังระบายสต๊อกกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย
ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และระบายอุปทานคงค้างในตลาด โดยกำหนดลดอัตราค่าธรรมเนียม 2 ประเภท
ได้แก่ ค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราเดิม 2% เหลือเพียง 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนอง จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 โดยกำหนดให้มาตรการมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 โดยกรมที่ดินเป็นผู้เรียกเก็บค่าธรรมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองดังกล่าว
ล่าสุดมีรายงานจากกรมที่ดิน ระบุว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากเทศกาลสงกรานต์  ประเมินว่า คนที่ชะลอโอนซื้อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ซื้อไว้แล้วและรอมาตรการดังกล่าวประกาศใช้ คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ในเร็วๆนี้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้อย่างมากและช่วยจูงใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า มาตรการนี้ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ รวมถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และห้องชุดในอาคารชุด ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท พร้อมทั้งวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีขายเฉพาะส่วน
กระทรวงการคลังออกมาตรการนี้เพื่อบรรเทาภาระประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยผู้ประกอบการระบายสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยกำหนดให้มาตรการมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะสอดรับกับมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้
“จากสถิติในอดีตพบว่า การดำเนินมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จำนองควบคู่กับการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ส่งผลเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” นายเผ่าภูมิกล่าว
ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีความเชื่อมโยงทั้งในแนวราบและแนวดิ่งกับธุรกิจอื่น ๆ ผ่านห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Forward Linkage) ไปยังธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้า บริการทางการเงิน ประกันชีวิต สื่อสาร และบริการส่วนบุคคล รวมถึงการเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkage) เช่น ธุรกิจผลิตเหล็ก ปูนซีเมนต์ คอนกรีต โรงเลื่อย โลหะ และเครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการขยับตัวของตลาดอสังหาฯ อย่างชัดเจนจากมาตรการนี้
ที่มา:ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

เรื่องที่น่าสนใจ