อย่าลืมเช็กดอกเบี้ยกู้

ซื้อบ้านลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

อย่าลืมเช็กดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
อย่าลืมเช็กดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านเมื่อผ่อนบ้านกับธนาคารมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ชวนทำความเข้าใจเรื่องสิทธิลดหย่อนภาษี คำนวณอย่างไร มีเงื่อนไขหรือไม่ อ่านพร้อมกัน

คุณรู้หรือไม่? ในวัยทำงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สิ่งที่ผู้คนนิยมซื้อที่สุดก็คือ “ที่อยู่อาศัย” และกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องกู้สินเชื่อจากธนาคาร ผ่อนชำระพร้อมเสียดอกเบี้ยระยะยาว 20-40 ปี ซึ่งนอกจากจะมีภาระเรื่องผ่อนชำระค่ากู้ซื้อบ้านจำนวนสูงในแต่ละเดือนแล้ว ผู้ซื้อยังต้องมีหน้าที่เสียภาษีประจำปีอยู่เช่นเดิม โดยกรณีที่ใครต้องเสียภาษีสูง แถมค่าผ่อนบ้านก็สูงแต่ถูกตัดเป็นดอกเบี้ยเสียเกือบหมด อาจเกิดความกังวลเรื่องรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้กำหนดให้นำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ทาวน์โฮม บ้านแฝด หรือคอนโด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ส่วนหนึ่ง แต่ผู้ที่จะใช้สิทธิได้นั้นอาจกู้เดี่ยว กู้ร่วม กู้หลังแรก หรือกู้หลายหลัง รวมถึงลดหย่อนได้เท่าไหร่ ลองไปเช็กเงื่อนไขและหลักการคำนวณกันได้จากบรรทัดต่อจากนี้

สิทธิที่ได้รับเมื่อนำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษี

การนำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริงแต่สูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท และสามารถใช้ได้กับการกู้ซื้อบ้านหลังแรก รวมถึงการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีผู้กู้ร่วมด้วย สิทธิที่ได้รับจะต้องถูกเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้ อย่างเช่น จ่ายดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านไปจำนวน 120,000 บาท/ปี และมีผู้กู้ร่วมทั้งหมด 2 คน โดยแต่ละคนจะมีสิทธิหักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท เนื่องจากเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมจะมีเงินได้หรือไม่ หรือจะใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องถูกเฉลี่ยออกเท่าๆ กันตามจำนวนผู้กู้ร่วม และไม่เกิน 100,000 บาท นั่นเอง

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเมื่อนำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษี

กรมสรรพากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสำหรับการหักลดหย่อนสำหรับดอกบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้มีกำหนดไว้ ดังนี้

1.ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ต้องมาจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวข้องกับเงินกองทุนที่จัดสรรเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัตตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

2.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่ง มือสอง บ้านพร้อมที่ดิน สร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง รวมไปถึงคอนโด แต่ยกเว้นเงินกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

3.ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม

4.กรณีผู้มีเงินได้กู้ซื้อบ้านหลายหลัง เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอลดหย่อนเกินกว่า 1 หลัง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทุกหลัง แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องอยู่ในเงื่อนไขลดหย่อนที่ไม่เกิน 100,000 บาท ตัวอย่างเช่น ต้องเสียดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านรวมกันปีละ 120,000 บาท แต่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 100,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง

5.สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้นได้เลย ตามระยะเวลาที่จ่ายดอกเบี้ยไปในปีนั้นๆ

6.กรณีสามีภรรยาร่วมกันกู้ซื้อบ้าน โดยสามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

7.กรณีผู้มีเงินได้ร่วมกันกู้ซื้อบ้าน ให้นำมาลดหย่อนได้ทุกคน โดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

หลักการคำนวณดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ได้ลดหย่อนภาษีเท่าไหร่

หลักการคำนวณค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อนำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อน สามารถนำได้เฉพาะดอกเบี้ยจากการกู้ยืมมาคำนวณเท่านั้น ซึ่งสามารถคำนวณได้ตามกรณีต่างๆ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 “กู้ซื้อบ้านคนเดียว” : กรณีจ่ายดอกเบี้ยค่าบ้านไปเดือนละ 8,000 บาท จำนวน 12 เดือน รวมเป็นดอกเบี้ยต่อปีที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้คือ 96,000 บาท ซึ่งจากเงื่อนไขการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน สามารถลดหย่อนได้สูงสุดที่ 100,000 บาท จึงสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ทั้งหมด 96,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 “ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านเกิน 100,000 บาท” : กรณีส่งดอกเบี้ยค่าบ้านเดือนละ 10,000 บาท จำนวน 12 เดือน รวมเป็นดอกเบี้ยต่อปีที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้คือ 120,000 บาท แต่เงื่อนไขการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน สามารถลดหย่อนได้สูงสุดที่ 100,000 บาท จึงสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท เท่านั้น

ตัวอย่างที่ 3 “กรณีกู้ร่วมซื้อบ้าน” : กรณีที่มีการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน ดอกเบี้ยที่จ่ายไปจะต้องแบ่งค่าลดหย่อนให้กับผู้กู้ร่วมเท่าๆ กัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เหมือนกับการกู้ซื้อบ้านคนเดียว เช่น สามีภรรยายื่นกู้ร่วมกันและจ่ายดอกเบี้ยทั้งปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท จะลดหย่อนรวมกันสูงสุดได้ที่ 100,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

และค่าลดหย่อนต้องแบ่งคนละครึ่งคือ สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 50,000 บาท หรือสามีภรรยาจ่ายดอกเบี้ยรวมกันทั้งปี 80,000 บาท จะต้องถูกแบ่งเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 40,000 บาท นั่นเอง

สรุป…ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 แสน ทั้งแบบกู้คนเดียวและกู้ร่วม

ดังนั้น ใครที่กู้สินเชื่อเพื่ออยู่อาศัย และกำลังผ่อนอยู่ในแต่ละเดือน เมื่อถึงเวลายื่นภาษีอย่าลืมขอหลักฐานการส่งดอกเบี้ยบ้านจากธนาคารเพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากเป็นการกู้ร่วมก็ให้แบ่งลดหย่อนเท่าๆ กัน แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท เช่นกัน

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรื่องที่น่าสนใจ