ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

Debt Restructuring

 

 

เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้รายรับลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น หรือทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน แม้จะลองลดค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ก็มีแววว่าจะเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว จะหาเงินก้อนมาปิดทันทีก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณกำลังเจอปัญหานี้ สิ่งแรกที่ต้องรีบดำเนินการคือ รีบติดต่อกับสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่
การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญากู้เงินที่เคยทำไว้กับเจ้าหนี้ได้อีกต่อไปได้ ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลงหรือความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไป โดยที่ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL) เพราะหากปล่อยปัญหาหนี้ไว้นานเกินไปอาจส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด เช่น ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และหาทางออกได้ยากยิ่งขึ้น
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) หมายถึง กระบวนการที่องค์กรหรือบุคคลดำเนินการแก้ไขหรือต่อรองเงื่อนไขของหนี้สินเพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น โดยทั่วไปแล้วการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต
วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
1.ลดภาระการชำระหนี้ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย หรือระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อให้จำนวนเงินที่ผู้กู้ต้องชำระลดลง
2.เพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้กู้สามารถเก็บรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้ดีขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น
3.หลีกเลี่ยงการล้มละลาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กู้ต้องเผชิญกับการล้มละลายหรือการฟ้องร้องจากเจ้าหนี้
4.รักษาความสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้กู้และเจ้าหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
1.วิเคราะห์สถานะการเงิน ประเมินฐานะการเงินของตนเองหรือองค์กร เช่น รายได้, รายจ่าย, หนี้สิน รวมถึงทรัพย์สิน
2.ติดต่อเจ้าหนี้ หรือตัวแทนเจ้าหนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินและข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3.เสนอข้อเสนอใหม่ อาจรวมถึงการลดดอกเบี้ย, ขยายระยะเวลาการชำระหนี้, หรือการผ่อนปรนในการชำระหนี้
4.ทำสัญญาใหม่ หากเจ้าหนี้ยอมรับข้อเสนอ ควรทำสัญญาใหม่หรือเอกสารที่ระบุเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่ให้ชัดเจน
5.ติดตามและปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ควรติดตามและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันใหม่อย่างเคร่งครัด
หมายเหตุ
– ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อช่วยในการวิเคราะห์และดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม
– การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อาจส่งผลกระทบต่อเครดิตสกอร์หรือความสามารถในการกู้ยืมในอนาคตของผู้กู้
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการหนี้สิน ซึ่งหากดำเนินการอย่างมีระเบียบและเหมาะสมจะช่วยให้ผู้กู้สามารถฟื้นตัวทางการเงินและกลับมาอยู่ในสถานะที่ดีได้
เกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 หนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หมายความว่า หนี้แต่ละบัญชีของลูกหนี้ที่ถูก จัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการ กันเงินสำรองของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้รวมถึงหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญที่กันสำรองครบร้อยละร้อย และตัดออกจากบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี และได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขอสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าบัญชีลูกหนี้จะได้รับการจัดชั้นดังกล่าวก่อนปี พ.ศ. 2556 หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ข้อ 2 กรณีตามข้อ 1 เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น จะต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด โดยหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้
ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ต้องแจ้งหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ดังนี้
(1) แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินท้องที่ที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้ส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย เว้นแต่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นประสงค์จะชำระภาษีอากรก่อนในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องแจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
(2) แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยให้ส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวผ่านสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นมีภูมิลำเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่หรือในเขตท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ที่โอนตั้งอยู่

 

ที่มา:ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรมสรรพากร

 


Similar Posts