‘แบงก์ชาติ’ ออกเกณฑ์ใหม่ คุมธนาคารให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เริ่ม 1 ม.ค.67

“แบงก์ชาติ” ประกาศเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อดูแลลูกหนี้ตลอดวงจร แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เริ่มต้นมีผล 1 ม.ค. 67 นี้เป็นต้นไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ส่งหนังสือเวียนและออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง การยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามหนังสือเวียนเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ให้มีความครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม

ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และสนับสนุนให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง (responsible borrowing)

สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้

1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

2. การโฆษณา

3.กระบวนการขาย
4.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability)
5. การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้
6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)
7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR)
8. การดำเนินตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น

Similar Posts